สภาสถาปนิกแจงปม “วิมานพระอินทร์” ยัน สจล. ผิดพรบ. เหตุไม่มีใบอนุญาต ชงกฤษฎีกาฟันธง

คืบหน้ากรณีสังคมวิพากวิจารณ์สถาปัตยกรรมวิมานพระอินทร์ หนึ่งในจุดหมายตาของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งดำเนินงานโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล่าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ว่าลอกจากผลงาน “เดอะคริสตัลไอแลนด์”ของนายนอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกชาวอังกฤษ ซึ่งเคยออกไว้สำหรับก่อสร้างที่ประเทศรัสเซีย ต่อมา ได้เกิดการตั้งคำถามถึงจรรยาบรรรณวิชาชีพ อีกทั้งการที่สจล.เป็นสถาบันการศึกษา สามารถรับงานโครงการดังกล่าวได้ตามกฎหมายหรือไม่

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. เวลา 13.30 น. ที่สภาสถาปนิก นายเจตกำจร พรหมโยธี นายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า สภาฯได้รับทราบถึงโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อราวเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ในขณะนั้นเห็นภาพเหมือนที่ทุกคนเห็นคือถนน และทางด่วน ซึ่งมีการปักเสาลงในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฟาก ทางสภาและสมาคมวิชาชีพต่างรู้สึกตกใจ ต่อมา ทราบข้อมูลว่ารัฐบาลมอบหมายให้กทม.ดำเนินโครงการ ซึ่งกทม. ได้มอบต่อให้สำนักการโยธาออกทีโออาร์ที่จะว่าจ้างเอกชน ทางสภาจึงไปขอดูทีโออาร์ว่าเหมาะสมหรือไม่ก็ยิ่งตกใจ เพราะทีโออาร์เป็นการว่าจ้างเพื่อออกแบบเลย โดยไม่มีขั้นตอนการดำเนินการที่เป็นไปตามหลักวิชา ซึ่งที่ถูกคือต้องศึกษาโครงการ ครอบคลุมถึงความเป็นไปได้ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และรับฟังความเห็นประชาชน เมื่อเสร็จแล้ว ต้องจัดทำผังแม่บทว่า 14 กม. จะทำอะไรในจุดใดบ้าง เพราะริมน้ำเจ้าพระยามีความหลากหลาย สภาฯจึงทำข้อเสนอไปถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีมาอีกทอดหนึ่ง พร้อมทั้งจัดแถลงข่าวว่าทางสภาไม่เห็นด้วยเรื่องใด และเสนอแนะภาครัฐว่าควรทำอะไรบ้าง

“เมื่อ 4-5 เดือนที่แล้ว สภาสถาปนิกกับสมาคมวิชาชีพ และสถาบันการศึกษา ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อชี้แจงความข้องใจของเราต่อโครงการนี้ ท่านยืนยันว่าจะไม่มีถนน 20 เมตรปักเสาในน้ำ ซึ่งเป็นการเสนอของกทม. ที่พยายามทำเพื่อจะคิดราคาค่าก่อสร้าง งบ 14,000 ล้านมาจากตรงนี้ ซึ่งรัฐไม่ต้องการ จึงสบายใจขึ้น ก่อนหน้านี้ สภาและภาคี ได้รับการติดต่อจากผู้ไม่เห็นด้วย ซึ่งเราก็เปิดโอกาสให้ กลุ่ม FRIENDS OF RIVER และสมัชชาแม่น้ำเข้าพบ ใช้เวลาชี้แจงเกือบสองชม. และได้บอกไปว่า สภาเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแน่นอน ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีประเด็นเกิดขึ้นมากมา โดยมีการพาดพิงสภาสถาปนิก เราก็ยินดีตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา เพราะเป็นหน้าที่อยู่แล้ว” นายเจตกำจรกล่าว

นายเจตกำจรกล่าวถึงประเด็นวิมานพระอินทร์ ซึ่งสังคมตั้งคำถามว่าลอกแบบจากต่างชาติหรือไม่นั้น เคยมีเรื่องร้องเรียนในลักษณะคล้ายคลึงกันมาที่สภาฯ คือ การประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีผู้ร้องเรียนว่ามีรายหนึ่งลอกเลียนแบบอาคารในฮ่องกง สภาสอบสวนทันที ถ้าจำไม่ผิดมีการลงโทษโดยพักใบอนุญาต 1 ปี แต่ลดเหลือครึ่งปี เพราะไม่เคยทำผิด การกล่าวหาว่าลอกหรือไม่ลอก ต้องพิสูจน์ ซึ่งสามารถส่งเรื่องร้องเรียนมาที่สภา โดยต้องมีผู้ร้องเรียนเท่านั้น อยากให้ผู้ที่คิดว่าอาจมีการลอกแบบรีบร้องเรียนมา เพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าลอกหรือไม่ลอก

Advertisement

สำหรับกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ดำเนินการออกแบบ คือ สจล. สามารถรับงานโครงการดังกล่าวได้ตามกฎหมายหรือไม่นั้น ได้มีการตรวจสอบแล้วว่า สจล.ไม่มีใบอนุญาต เนื่องจากไม่เคยมาขอใบอนุญาตจากสภาสถาปนิก จึงผิด พรบ. สถาปนิก พ.ศ. 2543 อย่างแน่นอน

“สภาสถาปนิกออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบวิชาชีพสองประเภท คือ ประเภทบุคคล ใครก็แล้วแต่ ถ้ามีคุณวุฒิ สภาก็รับรอง โดยมีสิทธิ์สอบเพื่อขอรับใบอนุญาต อีกประเภทหนึ่ง คือ ใบอนุญาตนิติบุคคล ซึ่งกำหนดไว้ในพรบ. กรณีของ สจล. ไม่เคยมาขอใบอนุญาตจากสภาสถาปนิก จึงผิดพรบ. แน่นอน ส่วนเหตุผลที่ว่าคณะทำงานเป็นบุคคลที่มีใบอนุญาต ก็ไม่น่าทดแทนกันได้กรณีนี้เข้าใจว่าสจล. ไปรับงานจากกทม. ฉะนั้น ท่านเป็นคู่สัญญาไม่ใช่บุคคล นาย ก. นาย ข. ทำสัญญา แต่เป็นสถาบันการศึกษา จึงต้องรับผิดชอบต่อโครงการนี้ ซึ่งถ้ามีปัญหา สจล. ซึ่งเป็นคู่สัญญาต้องรับผิดชอบ แต่จะมีใครทำงานให้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะอ้างว่าทีมงานมีใบอนุญาตนั้น อ้างไม่ได้ ไม่งั้นต้องไปไล่ฟ้องคนทำงานให้สจล.เป็นสิบ เป็นร้อยคนหรือ ?”

นายเจตกำจร กล่าวอีกว่า มีผู้บอกให้สภาดำเนินคดีกับสจล. อย่างไรก็ตาม มีมหาวิทยาลัยอีกนับสิบแห่งรับงานราชการ จริงๆแล้วเป็นน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ไม่อยากทำอะไรรุนแรง มองว่าควรหาทางประนีประนอมเพื่อหาทางออก แต่ยืนยันว่าพรบ. ฉบับปัจจุบัน สถาบันการศึกษารับงานไม่ได้

Advertisement

“หากจำเป็นต้องแก้พรบ. ก็แก้ ซึ่งจะมีผลต่อทุกสถาบันการศึกษาไม่ใช่เฉพาะสจล. อยากให้คณะกรรมการกฤษฎีกาฟันธงเลยว่า สถาบันการศึกษารับงานลักษณะนี้ หรือรับงานจากรัฐ ผิดกฎหมายหรือไม่ หรือแม้กระทั่งไปรับงานจากเอกชน ผิดไหม แต่เห็นเขาว่าปกติใช้เวลาสองปี กฤษฎีกาต้องทบทวนการทำงานของท่าน อย่างนี้บ้านเมืองไปไม่รอด ถามไปทีสองปีจึงตอบ ทำงานแบบนี้บ้านเมืองจึงไม่ก้าวหน้า ฝากถึงกฤษฎีกาว่าขอคำตอบพรุ่งนี้ได้ไหมจะได้เลิกทะเลาะกัน”
นายเจตกำจร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กรณีนี้จะโทษ สจล.ไม่ได้ แต่ต้องโทษรัฐบาลที่โยนงานมาให้คนที่ทำแล้วเกิดปัญหาว่าถูกหรือผิดกฎหมาย หากให้เอกชนทำ ก็ไม่มีปัญหาแล้ว ส่วนกรณีที่นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดังเตรียมยื่นขอให้สภาสถาปนิกเปิดประชุมวิสามัญ เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ รวมถึงการร้องเรียนเรื่องจรรยาบรรณด้วย

“สจล. อ้างว่าราชการมอบหมายงานให้ทำ จึงต้องทำ ส่วนหนึ่งรัฐ น่าจะเอาปัญหาเหล่านี้มาพิจารณาว่าการที่รัฐมอบงานให้สถาบันการศึกษา ซึ่งสะดวกต่อรัฐ แต่ทำให้สถาบันการศึกษ สภาสถาปนิก และผู้ประกอบวิชาชีพทะเลาะกันเละไปหมดเลย รัฐควรพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้เหมาะไหม ทำให้เกิดปัญหาแตกแยกซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ถ้าให้เอกชนทำแต่แรกก็ไม่มีปัญหา แทนที่จะให้ผู้ประกอบวิชาชีพทะเลาะกันเองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน กรณีคุณดวงฤทธิ์จะขอเปิดสภาวิสามัญ เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ ดวงฤทธิ์ทำได้ทุกอย่าง จะขอเปิดวิสามัญก็ส่งเอกสารมา เราไม่ขัดข้อง เพื่อสมาชิกทำได้ทุกอย่าง ขอให้รีบส่งมา จะร้องเรียนมาที่สภาก็ได้ สภาจะส่งไปยังคณะกรรมการจรรยาบรรณเพื่อสอบสวน แต่รู้สึกไม่สบายใจที่เห็นสถาปนิกมานั่งทะเลาะกัน มีปัญหาอะไรควรคุยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง ช่วยกันพัฒนาวิชาชีพให้ก้าวหน้า”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image