เด็กติดโควิดพุ่งสูงถึง 1.8 หมื่นคน เสียชีวิตกว่า 10 ราย จากโรคประจำตัวเรื้อรัง

เด็กติดโควิดพุ่งสูงถึง 1.8 หมื่นคน เสียชีวิตกว่า 10 ราย จากโรคประจำตัวเรื้อรัง สธ.กางแผนแยกกักที่บ้าน จับมือภาคีทำศูนย์พักคอยเยาวชนฯในชุมชน

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม การแถลงข่าวออนไลน์ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ประเด็น “รายงานข้อมูลแนวโน้มสถานการณ์และการช่วยเหลือครอบคลุมทุกปัญหาเร่งด่วน” โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมกับ ฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูเนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่ายกลุ่มเส้นด้าย ร่วมแถลงเปิดศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 พร้อมรายงานข้อมูลแนวโน้มสถานการณ์และการช่วยเหลือครอบคลุมทุกปัญหาเร่งด่วน

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ช่วงหลังของการระบาดเราพบเด็กติดเชื้อค่อนข้างมาก เพราะมีผู้ป่วยมากขึ้น และเป็นการติดเชื้อในครอบครัว จึงเป็นความเสี่ยง สถานการณ์ติดเชื้อในเด็ก ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ส.ค. ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 33 ของปี 2564 พบว่า ช่วงแรกก่อนสัปดาห์ที่ 16 เรามีผู้ป่วยเด็ก อายุแรกเกิด-18 ปี สะสม 366 รายต่อสัปดาห์ แต่สัปดาห์ล่าสุดวันที่ 4-11 ส.ค. ผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้น 18,000 กว่าราย คิดเป็น 2-3 พันรายต่อวัน โดยมีเด็กเสียชีวิตสะสม 10 กว่ารายซึ่งเราต้องขอแสดงความเสียใจ ข้อมูลผู้ป่วยเด็กแบ่งตามกลุ่มอายุ พบว่าส่วนใหญ่อายุมากขึ้นก็มีโอกาสติดมากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสพบคนมากขึ้นก็ติดมากขึ้น

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า วิเคราะห์ผู้ป่วยที่มาในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาล (รพ.) เด็ก เวลาเด็กป่วยส่วนใหญ่จะมีพ่อแม่ป่วยด้วย เรารับผู้ป่วย 4-5 ร้อยราย แบ่งเป็นผู้ป่วยเด็ก 300 กว่าราย ผู้ใหญ่มานอนด้วยซึ่งติดเชื้ออีกร้อยกว่าราย ตอนนี้เราการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ในเด็กซึ่งส่วนใหญ่อายุน้อย จริงๆ เด็กป่วยได้ทุกคน แต่ที่มีอาการรุนแรงส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น อายุน้อย มีโรคทางพันธุกรรม โรคสมอง โรคหัวใจ ติดเตียง หัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงมีโอกาสเสียชีวิต ต้องเข้ารับเป็นผู้ป่วยใน(IPD) ซึ่งความเสี่ยงจะเหมือนกับผู้ใหญ่แต่หากเด็กโตไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม เด็กก็จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า มาตรการรับมือสถานการณ์ผู้ป่วยเด็ก กรมการแพทย์ให้ สถาบันสุขภาพเด็กฯ ขยายเตียงผู้ป่วยอาการปานกลางและรุนแรง เนื่องจากเด็กติดเชื้อก็จะมีผู้ปกครองที่ติดเชื้อมาด้วย โดยเรามีอาสาสมัครที่ติดเชื้อช่วยดูแลเด็กด้วย ร่วมมือกับ รพ.ลูกข่ายจัดบริการดูแลกลุ่มผู้ป่วยเด็กอาการน้อย ให้แยกกักที่บ้านซึ่งเหมือนผู้ใหญ่ มีอุปกรณ์ มีอาหารเด็ก 3 มื้อ และมีเทเลเมด (Tele medical) ได้รับความร่วมมือหลายภาคส่วน เช่น ผู้ป่วยเด็กที่ไม่สามารถอยู่บ้านได้ ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดทำการแยกกักในชุมชน หรือศูนย์พักคอย (Community Isolation) ให้ผู้ป่วยเด็กโตอายุมากกว่า 7 ปี ที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตดุสิต และกำลังจะเปิดอีกแห่งในค่ายทหาร เขตดุสิต นอกจากนั้น ขณะนี้ได้จัดทำร่างแนวทางดูแลผู้ป่วยเด็กที่ผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ เพื่อใช้ในหน่วยงานต่างๆ

Advertisement

“กรณีเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ติดเตียงแล้วซึ่งอาจจะเสียชีวิตที่บ้าน ผู้ปกครองไม่อยากให้มาแอดมิต (Admit) เราก็มีการดูแลระยะสุดท้าย ด้วยทีมวิสาหกิจเพื่อสังคม ทีมเยือนเย็น มีการจ่ายยาไปที่บ้าน” นพ.สมศักดิ์กล่าว และว่า โดยเราสร้างห้องความดันลบเพื่อผู้ป่วยเด็กตั้งแต่แรกเกิดที่ สถาบันสุขภาพเด็กฯ และเครือข่ายต่างๆ

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า มาตรการที่ปิดโรงเรียนถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะถ้าเด็กไปเรียนก็จะกลับมาติดที่บ้าน แต่เราไม่สามารถห้ามปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและเด็กได้ ดังนั้นส่วนใหญ่เด็กก็ติดมาจากผู้ปกครอง ซึ่งเด็กจะนำไปติดผู้สูงอายุในบ้านได้ อย่างไรก็ตาม เราเป็นห่วง 2 ประเด็น คือ 1.สุขภาพเด็ก หากโตไม่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่ไม่น่าเป็นห่วง แต่เด็กเล็กมีโรคประจำตัวหลายอย่าง ก็จะพบปัญหาพอสมควร 2.เวลาเด็กติดเชื้อ แล้วนำไปแพร่เชื้อในครอบครัว เราเป็นห่วงในส่วนนี้

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ทยอยประกาศวัคซีนที่ใช้ในเด็ก ซึ่งเราต้องติดตามใกล้ชิด วัคซีนบางตัวแม้กระทั่งไฟเซอร์ ใช้ในเด็กยังไม่มาก ยังไม่มีการติดตามผลข้างเคียงระยะยาว แต่เราชั่งแล้วว่า โควิดมันทำลายล้างทุกทฤษฎีที่เรารู้จัก อย่างเช่นปีที่แล้วเราบอกว่าวัคซีนมา มันจะจบแต่ปรากฏว่าไม่จบ การติดเชื้อแล้วไม่ติดซ้ำ ตอนนี้ก็ติดซ้ำได้ ตอนนี้อยู่ที่การชั่งในสถานการณ์จุดนั้นๆ ว่า ประโยชน์กับโทษ อะไรมากกว่ากัน โดยเราพบว่า ฉีดวัคซีนในเด็กอายุน้อยที่มีโรคร่วม สามารถลดป่วยหนักและเสียชีวิตได้

Advertisement

“สถาบันสุขภาพเด็กฯ กำลังเตรียมตัวฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เด็กอายุน้อยต่ำกว่า 12 ปีที่มีโรคร่วม เพราะเราไปห้ามการแพร่เชื้อได้ยาก แต่จะทำอย่างไรเพื่อห้ามป่วยหนัก ห้ามเสียชีวิต วัคซีนจะเป็นคำตอบ ซึ่งเรากำลังเตรียมแนวทางให้วัคซีนในเด็ก ลดเพื่อการป่วยหนักและเสียชีวิตในเด็กที่มีโรคประจำตัว” นพ.  สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า มีการคาดการณ์ 1-2 ปีข้างหน้าว่า โควิดจะคล้ายกับเรื่องไข้หวัดใหญ่ 2019 เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเป็นโรคหนึ่ง หรือทางระบาดวิทยาเรียกว่า โรคประจำถิ่น ที่สามารถติดเชื้อกันได้ วัคซีนที่พัฒนาต่อเนื่องจะเป็นตัวเข้ามาช่วยทำให้การติดเชื้อไม่ป่วยหนัก ไม่เสียชีวิต หรือป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งปลายปี 2565 โควิดก็อาจเป็นคล้ายไข้หวัดได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีนด้วยว่าจะลดการติดเชื้อ การป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้มากเท่าไหร่ เป็นพัฒนาการที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังทำการอยู่

ด้าน พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขเด็กที่ได้รับผลกระทบในแง่การสูญเสียคนที่เขารักจากโควิด ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เราต้องการเข้าถึงเด็กกลุ่มดังกล่าว และเนื่องจากสถานการณ์ยังเดินหน้าต่อ อัตราการเสียชีวิตยังคงที่ อย่างเช่นวันนี้ (16 ส.ค.) เรามีผู้เสียชีวิตใน 187 ครอบครัวที่สูญเสียคนที่รัก พบว่า มีหลายครอบครัวเสียสมาชิกจากโควิดมากกว่า 1 ราย หรือการเสียชีวิตเกิดขึ้นในขณะที่สมาชิกคนอื่นยังรักษาตัวอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กด้วย อย่างที่เห็นในข่าว เด็กไม่ติดเชื้อแต่พ่อแม่เสียชีวิตจากโควิดทั้งคู่

“คนที่ทำหน้าที่พ่อแม่ให้กับเด็กแล้วเสียชีวิต มีผลกระทบด้านจิตใจกับเด็กแน่นอน เด็กเสียใจกับการสูญเสียเหมือนผู้ใหญ่ มีอารมณ์ความเศร้า แต่ปฏิกิริยาต่างกัน เด็กต้องการคนที่อยู่รอบข้างมาช่วยให้ความเศร้าผ่านไป แต่เราพบการศึกษาหลายประเทศ ว่า การสูญเสียจากโควิดกระทบมาก เพราะไม่มีโอกาสได้ร่ำลา ไม่มีแม้โอกาสได้ร่วมส่งเขาเป็นครั้งสุดท้าย หรือเป็นการติดเชื้อในครอบครัว ก็จะเกิดประเด็นว่าเราเป็นจุดเริ่มต้นติดเชื้อไปสู่คนอื่นในครอบครัว และเสียชีวิต เป็นความรู้สึกผิดที่รบกวนความรู้สึกเสียใจโดยปกติ” พญ.พรรณพิมลกล่าว

พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า สิ่งที่เราต้องทำคือ ไม่ให้เด็กรู้สึกเศร้ากับการสูญเสีย ต้องผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ และหากสูญเสียผู้ทำหน้าที่พ่อแม่ มักมีผลกระทบมากขึ้น เช่น เป็นเด็กกำพร้า ไม่มีพ่อแม่อีกต่อไป เขาก็จะต้องดูแลตัวเองในรูปแบบใหม่ หรือหากสถานะเดิมก่อนมาเจอโควิดที่ยากลำบากอยู่แล้ว เมื่อเสียผู้นำครอบครัวอีก เด็กจะหวั่นไหวมากขึ้น เพราะอาจถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่กับญาติ เปลี่ยนเพื่อน เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราทำต้องไม่ให้เด็กอยู่กับความทุกข์ใจ เพราะเขาจะขาดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ที่จะโต ที่จะมองไปข้างหน้าผ่านสิ่งนี้ไป

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กทุกคนที่ประสบความสูญเสียคนรัก หรือเขารู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตบางอย่าง เขาจะยังมีความรู้สึกที่มั่นคง มั่นใจว่าระบบจะเข้าไปช่วยโอบอุ้ม ดูแล ซึ่งสัมพันธ์กับ 1.อายุของเด็กที่สูญเสียเพราะเด็กรับรู้ต่างกันตามอายุ 2.ความสัมพันธ์ของคนที่จากไป และ 3.การเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับเขา ซึ่งกระทบกับเด็กโตมาก ส่วนในเด็กเล็กจะกังวลเรื่องคนใกล้ชิดที่จะดูแลเขา เช่น ใครจะเข้าใจเขา ใครจะถักผมเปียให้เขาในตอนเช้า เหมือนที่แม่ทำให้ทุกวัน หรือถ้าพ่อยังอยู่ก็อาจสิ่งนั้นแทน หรือถ้าไม่มีทั้งพ่อและแม่ ไม่มีใครถักผมเปียให้เขา” พญ.พรรณพิมลกล่าว

พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า เมื่อเขาต้องโตต่อไปด้วยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ที่อยู่ในระบบการรักษาที่ รพ.รวมถึงการแยกกักที่บ้าน เราต้องเข้าถึงเด็กที่สูญเสีย ดูแลเขาให้ดำเนินชีวิตผ่านไปได้ ช่วยเหลืออื่นๆ ที่มากกว่าสุขภาพกายและจิต เช่น สังคม การศึกษา เราก็จะต้องเข้าไปช่วยเหลือในด้านนี้

ด้าน นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ 2-3 วันที่ผ่านมาจะเห็นว่าแตะ 2,900 กว่าราย ทางกรมกิจการเด็กฯ ได้จำแนกกลุ่มเพื่อให้การช่วยเหลือให้ตรงประเด็น ซึ่งเราดูแลเด็กตามคำนิยามคืออายุ 0-18 ปี ได้แก่ 1.กลุ่มเด็กติดเชื้อที่ผู้ปกครองติดเชื้อ 2.กลุ่มเด็กที่ผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ 3.กลุ่มเด็กกลุ่มเสี่ยง คือเด็กที่ยังไม่ติดเชื้อ รอการยืนยันผลสว็อบ รวมถึงเด็กที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงในครอบครัวติดเชื้อ 4.กลุ่มเด็กกำพร้า ทั้งนี้ หากต้องการขอความช่วยเหลือ พม. มีสายด่วน 1300 โดยทางกรมก็มีบ้านพักเด็กและครอบครัวในทุกจังหวัด และยังมีแอพพลิเคชั่น คุ้มครองเด็ก เพื่อแจ้งเหตุช่วยเหลือเด็กในกลุ่มต่างๆ ที่นอกเหนือจากโควิดด้วย นอกจากนั้น ก็มีไลน์บัญชีทางการ @savekidscovid19 รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ซึ่งได้เปิดตัวแล้วเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้รับการแจ้งเหตุปัญหาเข้ามา 174 ราย ส่วนใหญ่แจ้งขอความช่วยเหลือจากการที่เด็กติดเชื้อ นอกจากนี้ข้อมูลถึงวันที่ 28 ก.ค.จากการรายงานของบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัดพบเด็กกำพร้า 182 คน แยกเป็นกำพร้าพ่อ 90 คน กำพร้าแม่ 76 คน กำพร้าทั้งพ่อแม่ 1 คน และกำพร้าผู้ดูแล 15 คน เชื่อยังมีมากกว่านี้ การดูแลเด็กเหล่านี้นอกเหนือจากการดูแลทางกายแล้วยังต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจที่สำคัญอย่างยิ่ง การรองรับเด็กกำพร้าจะเน้นให้เครือญาติเข้ามาดูแลเป็นครอบครัวทดแทนลำดับแรก โดยต้องผ่านการประเมินความพร้อมด้านต่างๆ สถานสงเคราะห์จะเป็นที่สุดท้ายที่จะรองรับเด็ก
///////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image