กก.โรคติดต่อฯ คอนเฟิร์มโควิดไทยสัญญาณดี จ่อเพิ่มมาตรการรับเปิด ปท. ปชช.ใช้เอทีเค-ซีลออฟฟิศ/โรงงาน

กก.โรคติดต่อฯ คอนเฟิร์มโควิดไทยสัญญาณดี จ่อเพิ่มมาตรการรับเปิด ปท. ปชช.ใช้เอทีเค-ซีลออฟฟิศ/โรงงาน

วันนี้ (23 สิงหาคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2564 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน การทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เครือข่ายโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ (UHOSNET) โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมการประชุม และประชุมผ่านระบบออนไลน์

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของไทยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อคงตัว วันนี้ มีผู้ติดเชื้อใหม่ 17,491 ราย รักษาหาย 22,134 ราย เป็นผลจากมาตรการต่างๆ เช่น การล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม การตรวจค้นหาเชิงรุกด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) และนำเข้าระบบการรักษาที่บ้าน/ ชุมชน การเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุม ตั้งแต่เดือนนี้มีวัคซีนเข้ามาเพิ่มทั้ง ไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค ส่งไปทั่วประเทศ ขณะนี้ ฉีดวัคซีนไปแล้ว 27 ล้านโดส ผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นร้อยละ 28
“โดยวันนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้หารือ 4 ประเด็นสำคัญ ในการควบคุมโรคโควิด-19 คือ

1.การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ (Smart Control and Living with Covid-19) เตรียมเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านภาวะวิกฤต มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ให้จำนวนผู้ป่วยหนักไม่เกินศักยภาพระบบสาธารณสุขรองรับได้ ใช้กลยุทธ์ ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรง รวมถึงการพัฒนาวัคซีนใหม่อย่างครบวงจร มาตรการ DMHTT และการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) เพิ่มการทำงานเชิงรุกด้วยหน่วยเยี่ยมบ้านเคลื่อนที่ (CCRT) ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ระบาด ให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเอง และคัดกรองด้วยเอทีเค

ADVERTISMENT

2.เห็นชอบหลักการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ บับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) สำหรับสถานประกอบกิจการในพื้นที่ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ใช้แนวคิดกลุ่มคนที่แข็งแรงและอยู่เป็นกลุ่มในพื้นที่จำกัด ไม่ปะปนกับบุคคลภายนอก ใช้การสุ่มตรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ ถ้าพบการติดเชื้อเกินร้อยละ 10 แยกไปรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) สนาม และเฝ้าระวังคนที่เหลือให้สามารถทำงานต่อไปได้ เมื่อครบ 28 วัน ตรวจภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันจะสามารถทำงานต่อไป กลับบ้านได้ ผลดีคือ ไม่ต้องปิดโรงงาน แรงงานได้ค่าจ้าง เศรษฐกิจไปต่อได้ โดยมีกลไกด้านการสื่อสารทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำและระบบพี่เลี้ยง ด้านกำกับประเมินผล ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ADVERTISMENT

 

3.เห็นชอบร่างกฎกระทรวง เรื่อง การแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. … และร่างกฎกระทรวง เรื่อง การยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. … เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับพาหนะ จากต่างประเทศที่จะเข้ามาประเทศไทยทั้งในด่านบก เรือ และอากาศ

4.สนับสนุนให้มีผู้แทนของสมัชชาสุขภาพจังหวัด ร่วมประชุมในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 เพื่อให้มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่ร่วมรับรู้และร่วมดำเนินมาตรการควบคุมโรคภายในจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังได้รับทราบมติคณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่เห็นชอบให้ผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) เข้าร่วมโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ได้” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากมาตรการต่างๆ แสดงว่าไทยพร้อมเปิดประเทศแล้วใช่หรือไม่ นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเปิดประเทศและการควบคุมโรค ต้องอิงสถานการณ์ ซึ่งในวันนี้จะมีมาตรการควบคุม เพื่อนำไปสู่การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยและสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ สถานการณ์ขณะนี้ได้เตรียมการและได้วางแผน โดยทั้งหมดต้องดำเนินการภายใต้การควบคุมโรคที่เสนออย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถเปิดประเทศได้ตามแผนกำหนด ซึ่งหากสามารถทำได้ตามมาตรการควบคุมโรคก็จะสามารถผ่อนคลายและฟื้นฟูประเทศได้

ขณะที่ นพโอภาส กล่าวว่า ล็อกดาวน์จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ส.ค.64 คำถามว่า หลังล็อกดาวน์จะเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้ นพ.ทวีทรัพย์ ได้รายงานที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ

“หลังจากนี้ ตั้งแต่เดือน ก.ย.จนถึงปลายปี และปีหน้า หากจะเปิดให้ประชาชนคลายล็อกกิจกรรมต่างๆ ต้องมีอะไรบ้าง หลักๆ คือ 1.ฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนตามแผน 2.ตรวจคัดกรองตามจุดเสี่ยงต่างๆอย่างเข้มงวด และใช้ชุดตรวจโควิดอย่างง่าย คือ เอทีเค 3.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการทำมาตรการต่างๆ อย่างที่เรียกว่า Universal Prevention ต้องทำอย่างไร ซึ่งจะมีการขยายความประเด็นนี้อีกครั้ง หลักๆ ก็มี DMHTT และมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล รวมทั้งการประเมินมาตรการสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ป่วยว่า ต้องมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ จะต้องเป็นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งต้องใช้กลยุทธ์และมาตรการหลายส่วนประกอบกัน” นพ.โอภาส กล่าว

เมื่อถามต่อว่า แสดงว่าหลังวันที่ 31 ส.ค.นี้ จะมีการประเมินอีกครั้งว่าจะผ่อนคลายหรือเปิดประเทศอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.มีการประเมินเป็นระยะ ทั้งเรื่องสถานการณ์และมาตรการต่างๆ และทุกเรื่องต้องรายงานเสนอ ศปก.ศบค.ให้เห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับรายละเอียดมาตรการข้อกำหนดต่างๆ เป็นอย่างไร ขอให้นำเข้าศปก.ศบค.รายงานให้ทราบก่อน แต่จะมีแนวกำหนดไว้ ทั้งการฉีดวัคซีนปริมาณเท่าไรอย่างไร ขอนำเสนอ ศปก.ศบค.ก่อน

เมื่อถามว่า การเปิดประเทศไม่ได้หมายความว่า เปิดทั้งประเทศใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีการเปิดประเทศเป็นไปตามนโยบายเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเปิดทั้งประเทศ แต่จะเป็นพื้นที่ ยกตัวอย่าง ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ดังนั้น เป้าหมาย 120 วัน ทาง สธ.ยังรับนโยบายนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องพิจารณา เพราะยังมีตัวแปรที่ต้องพิจารณาอีกเยอะ เช่น ช่วงประกาศนโยบายเปิดประเทศ 120 วัน ยังไม่มีสายพันธุ์เดลต้ามาระบาด ซึ่งหลายประเทศ เมื่อเจอสายพันธุ์นี้ ก็มีการติดเชื้อใหม่ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างยังต้องอยู่ในการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image