เรื่องของดาวเหนือ กับ 7 ประการ ที่หลายคน อาจจะยังไม่รู้

เรื่องของดาวเหนือ กับ 7 ประการ ที่หลายคน อาจจะยังไม่รู้

วันที่ 26 สิงหาคม เฟชบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) โดย เจษฎา กีรติภารัตน์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.เรียบเรียงบทความเรื่อง “ดาวเหนือ”ดังนี้

ในวิชาลูกเสือเนตรนารี คุณครูมักจะบอกเล่าทริคในการเอาตัวรอดเมื่ออยู่ในป่าว่า “ถ้าเราหลงป่า ให้เรามองหาดาวเหนือ” หรือจะเป็นชื่อของการ์ตูนชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นอย่าง “เคนชิโร่ หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ” ก็ดี หรือประสบการณ์อื่น ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกคุ้นเคยกับชื่อ “ดาวเหนือ” กันมาอย่างยาวนานนั้น ล้วนเป็นสีสันของความทรงจำที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน

ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จัก “ดาวเหนือ” ในมุมมองที่แตกต่างออกไปของ นักดูดาว ทั้งการสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าและการศึกษาทางดาราศาสตร์ ที่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย

Advertisement

1) ดาวเหนือ ไม่ได้ชื่อว่า ดาวเหนือ

ดาวเหนือ มีชื่อจริง ๆ ว่า ดาวโพลาริส (Polaris) เป็นดาวฤกษ์สว่างในกลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) แต่ที่เรามักเรียกว่า ดาวเหนือ นั่นก็เพราะดาวโพลาริส เป็นดาวฤกษ์ที่ปรากฏใกล้ “ขั้วฟ้าเหนือ” เป็นบริเวณที่แกนหมุนของโลกชี้ไปบนท้องฟ้าพอดี ทำให้ดาว Polaris เป็นดาวที่ไม่ขึ้นไม่ตก และปรากฏอยู่นิ่ง ๆ เหนือขอบฟ้าทางทิศเหนือตลอดทั้งคืน สามารถใช้ระบุทิศเหนือได้อย่างแม่นยำ ในอดีตดาวเหนือจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อนักสำรวจที่ต้องใช้ดาวเหนือในการเดินเรือหรือนำทางในช่วงเวลากลางคืน

2) ดาวเหนือ ของเรา (สูง) ไม่เท่ากัน

Advertisement

ถ้าเรามองดูดาวเหนือจากสองตำแหน่งที่แตกต่างกันบนโลก จะพบว่าดาวเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้าไม่เท่ากัน เนื่องจากดาวเหนือจะมีตำแหน่งปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้าเท่ากับละติจูดผู้สังเกต เช่น จังหวัดเชียงใหม่ มีค่าละติจูดประมาณ 18 องศาเหนือ ดาวเหนือจะอยู่สูงจากขอบฟ้าเป็นมุม 18 องศา ถ้าผู้สังเกตใช้มือวัดมุมเงยเหนือขอบฟ้าทางทิศเหนือ 18 องศา ก็จะเจอดาวเหนือพอดี หรือถ้าผู้สังเกตอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรโลก ดาวเหนือก็จะยิ่งอยู่ต่ำใกล้กับขอบฟ้า

3) ดาวเหนือ “ไม่ใช่” ดาวสว่างที่สุด

หลายคนมักเข้าใจว่าดาวเหนือคือดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน แต่ความจริงแล้ว ดาวเหนือเป็นเพียงจุดแสงเล็ก ๆ บนท้องฟ้าบริเวณขั้วฟ้าเหนือ เนื่องจากเป็นดาวที่ไม่ค่อยสว่างทำให้เรามองเห็นไม่ง่ายเท่าไหร่นัก เราจึงมักหาดาวเหนือจากกลุ่มดาวใกล้เคียงที่สามารถนำทางไปยังตำแหน่งของดาวเหนือได้ เช่น กลุ่มดาวหมีใหญ่ กลุ่มดาวค้างคาว และกลุ่มดาวนายพราน

4) ดาวเหนือ ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 50 เท่า

แม้จะเกริ่นก่อนหน้านี้ว่า ดาวเหนือเป็นเพียงจุดแสงสว่างเล็ก ๆ บนท้องฟ้า แต่หากนำดาวเหนือวางข้าง ๆ กับดวงอาทิตย์ ดาวเหนือจะมีความสว่างมากกว่า 2,500 เท่า และมีขนาดใหญ่กว่าถึง 50 เท่า หรือถ้านำดาวเหนือมาวางแทนตำแหน่งดวงอาทิตย์ที่ศูนย์กลางระบบสุริยะ จะพบว่าบริเวณขอบพื้นผิวดาวเหนือ จะขยายออกไปไกลประมาณครึ่งหนึ่งของวงโคจรดาวพุธเลยทีเดียว

5) ดาวเหนือ ไม่ใช่ดาวเดี่ยว

ดาวเหนือ ไม่ใช่ดาวฤกษ์โดดเดี่ยวบนท้องฟ้าเหมือนที่เห็นด้วยตาเปล่า แต่นักดาราศาสตร์เรียกมันว่าระบบดาวฤกษ์สามดวง (Triple stars) ที่ประกอบด้วย Polaris A, Polaris Ab, Polaris B เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ จะสามารถสังเกตเห็น Polaris A และ B ที่แยกจากกันได้อย่างชัดเจน ซึ่งใช้เวลาโคจรรอบกันยาวนานกว่า 40,000 ปี แตกต่างจาก Polaris Ab ที่อยู่ในตำแหน่งใกล้กับ Polaris A ซึ่งมีความสว่างมากกว่าถึง 700 เท่า จึงไม่สามารถสังเกต Polaris Ab ได้จากกล้องโทรทรรศน์ ต้องตรวจวัดด้วยเทคนิคทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่าสเปกโทรสโกปีทางดาราศาสตร์ (Astronomical Spectroscopy)

6) ดาวเหนือ คือดาวแปรแสงเซเฟอิดที่ใกล้โลกที่สุด

ดาวเหนือ เป็นดาวแปรแสงเซเฟอิด (Cepheid variable star) ที่อยู่ใกล้โลกที่สุด ระยะห่าง 433 ปีแสง (1 ปีแสง = 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร) ดาวเซเฟอิดคือดาวฤกษ์ที่มีความสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นดาวที่มีอัตราการยุบขยายคงที่และสอดคล้องกับความสว่างที่แท้จริงของดาว ในวงการดาราศาสตร์ ดาวแปรแสงเซเฟอิด จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการวัดระยะห่างจากโลกถึงดาวดวงนั้น ๆ เหมือนที่ครั้งหนึ่ง เอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) เคยใช้วัดระยะห่างจากโลกถึงกาแล็กซีแอนโดเมดราด้วยดาวแปรแสงเซเฟอิด และพบว่าแอนโดรเมดรา คืออีกหนึ่งกาแล็กซีที่อยู่ไกลกว่า 2.5 ล้านปีแสง ซึ่งไกลมาก เกินกว่าที่จะเป็นเนบิวลาในกาแล็กซีทางช้างเผือกเหมือนที่เคยเข้าใจในอดีต

7) ดาวเหนือ ไม่ได้เป็นดวงเดิมตลอดไป

แกนโลกของเรา ไม่ได้เอียงในองศาเดิมตลอดเวลา แต่มีการส่ายคล้ายกับลูกข่างด้วยคาบประมาณ 26,000 ปี ดังนั้น ครั้งหนึ่งดาวเหนือของเราจึงเคยเป็น ดาวทูแบน (Thuban) ในกลุ่มดาวมังกรมาก่อน และทำนองเดียวกัน ในอนาคตอีกประมาณ 12,000 ปี ดาวเหนือของโลกเราจะเปลี่ยนเป็นดาวเวกา (Vega) ในกลุ่มดาวพิณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image