พระราชดำริ แก้ภัยแล้ง ด้วย น้ำบาดาลขนาดใหญ่

พระราชดำริ แก้ภัยแล้ง ด้วย น้ำบาดาลขนาดใหญ่

ต้นปี 2564 นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ประสานงาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี พร้อมนำเสนอแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่แห้งแล้ง และอยู่นอกเขตชลประทานโดยใช้น้ำบาดาลเป็นหลัก

ต่อมากรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลให้ดำเนินโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง จำนวน 6 โครงการ มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 และอยู่ระหว่างการนำเสนอแผนงานโครงการอีกจำนวน 9 โครงการ เพื่อรอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล

Advertisement

ซึ่งในระหว่างนี้ได้รับแจ้งจากสำนักงาน กปร. ว่า ได้มีหนังสือถึงสำนักพระราชวัง เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ 15 โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว และจากผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ได้อนุมัติโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 9 โครงการ วงเงินงบประมาณ 490 ล้านบาท โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน มกราคม 2565

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 15 โครงการ ในพื้นที่ 11 จังหวัด มีที่มาสืบเนื่องจากพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ขอนแก่น ราชบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ศรีสะเกษ นครพนม กาฬสินธุ์ ลำพูน เชียงใหม่ และพัทลุง ประสบปัญหาภัยแล้งมาเป็นระยะเวลายาวนาน ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ได้มีการร้องขอไปยังหน่วยงานต่างๆ หลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

Advertisement

ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่บริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลจึงเข้าไปดำเนินการสำรวจเพื่อหาศักยภาพของแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ ซึ่งบางแห่งพื้นที่ที่ประชาชนร้องขอส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำผิวดินจริง และบางพื้นที่ก็ไม่มีศักยภาพน้ำบาดาล ที่อยู่ใต้ดินเช่นกัน แต่การสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลไม่พบ ก็ไม่ใช่จุดจบที่จะละทิ้งปัญหาให้ประชาชนต้องเผชิญ ตามยถากรรม

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกลับมองเห็นเป็นความท้าทายที่จะระดมสรรพกำลังทั้งบุคลากร และเครื่องจักรเครื่องมือที่มีอยู่ และนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประชาชนมีน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากรูปแบบของระบบส่งน้ำบาดาลระยะไกล ที่มีการเจาะและสูบน้ำบาดาลจากบริเวณที่มีปริมาณน้ำมากเพียงพอ ส่งผ่านระบบท่อกระจายน้ำไปให้บริการแก่พื้นที่น้ำน้อยหรือมีคุณภาพน้ำบาดาลไม่เหมาะสม ซึ่งพื้นที่ดำเนินการทั้ง 15 โครงการ เช่น พื้นที่ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ประชาชนได้รับประโยชน์ 5,786 คน พื้นที่เกษตร 3,000 ไร่ ปริมาณน้ำที่ได้ 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี พื้นที่ตำบลดงเค็ง อำเภอหนองสองห้องจังหวัดขอนแก่น ประชาชนได้รับประโยชน์ 11,000 คน ปริมาณน้ำที่ได้ 438,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นต้น

ทั้งนี้ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 15 โครงการ มีบ่อน้ำบาดาลรวมทั้งสิ้น 113 บ่อ มีประชาชนได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 30,000 ครัวเรือน หรือ 100,000 คน พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์รวม 9,000 ไร่ และมีปริมาณน้ำที่ได้รวม 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี น้ำบาดาลทุกบ่อ ที่สูบขึ้นมาใช้จากทั้ง 15 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นน้ำบาดาลคุณภาพดี บางแห่งไม่จำเป็นต้องผ่านเครื่องกรองน้ำ ก็สามารถดื่มกินได้เหมือนน้ำดื่มสะอาดที่บรรจุขวดวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป หากเปรียบเทียบความคุ้มค่า ในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ระหว่าง แหล่งน้ำผิวดินกับแหล่งน้ำบาดาล เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำเท่ากันที่ 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ภายในวงเงินงบประมาณไม่เกิน 1,000 ล้านบาท การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลจะมีอัตราค่าใช้จ่ายต่อหน่วยถูกกว่าหลายเท่า ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อยกว่า และดำเนินการให้แล้วเสร็จได้เร็วกว่า รวมถึงการใช้ประโยชน์ของประชาชนที่สามารถนำน้ำบาดาลไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง เนื่องจากมีระบบกระจายน้ำบาดาลผ่านท่อส่งถึงบ้านเรือนประชาชน และที่สำคัญคุณภาพน้ำบาดาลถือว่าเป็น “น้ำสะอาด” ที่วางใจได้ เนื่องจากผ่านการกรองโดยธรรมชาติแล้ว

 

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ประชาชนจากพื้นที่ 11 จังหวัด ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการทั้ง 15 โครงการ ได้ฝากคำขอบคุณถึงรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่ได้ให้ความสำคัญในการเร่งรัดจัดหาน้ำกินน้ำใช้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ รวมถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกรมทรัพยากรน้ำบาดาลให้สามารถช่วยเหลือประชาชนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องทันต่อสถานการณ์

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลแม้จะเป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ ที่มีงบประมาณจำกัดในแต่ละปี แต่ด้วย ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อประชาชน พร้อมที่จะขับเคลื่อนโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นไปตามพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำกินน้ำใช้ อันจะนำมาซึ่งความสุขของประชาชน ความมั่นคงของชุมชน ตลอดจนสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image