กทม.ค้นชุมชน 2 เดือน จับตรวจ ATK 8.1 หมื่นราย พบติดโควิด 6.9 พันคน

กทม.ค้นชุมชน 2 เดือน จับตรวจ ATK 8.1 หมื่นราย พบติดโควิด 6.9 พันคน

เมื่อวันที่ 19 กันยายน เพจเฟซบุ๊กสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – วันที่ 19 กันยายน 2564 ว่า ล่าสุดวันนี้ กรุงเทพฯ พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,880 ราย เสียชีวิต 22 ราย ทำให้ในการระบาดระลอกใหม่มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 343,431 ราย เสียชีวิตสะสม 5,791 ราย ขณะที่มีจำนวนผู้รับวัคซีนโควิด-19 สะสม 11,273,190 โดส

นอกจากนี้ กทม.รายงานผลการดำเนินงานของทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก Bangkok Comprehensive Covid-19 Response Team (Bangkok CCRT) หรือ บางกอก ซีซีอาร์ที ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม – วันที่ 18 กันยายน 2564 มีชุมชนที่ได้รับการตรวจคัดกรอง 4,740 แห่ง ประชาชนที่เข้ารับบริการ 243,788 ราย มีประชาชนกลุ่ม 608 (กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป/7 กลุ่มโรค/หญิงตั้งครรภ์) ที่ได้รับวัคซีน 142,618 ราย ประชาชนที่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) 81,097 ราย ในจำนวนนี้พบเชื้อ 6,923 ราย แบ่งเป็น นำส่งโรงพยาบาล (รพ.) 401 ราย นำส่งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อในชุมชน (CI) 342 ราย แยกกักตัวที่บ้าน (HI) 6,180 ราย และไม่พบเชื้อ 74,174 ราย

ทั้งนี้ กทม. โดยสำนักอนามัย สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง บูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จิตอาสาพระราชทาน 904 และภาคประชาชน จัดทีมบางกอก ซีซีอาร์ที ลงพื้นที่ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม – วันที่ 18 กันยายน โดยทำหน้าที่ดังนี้ 1.สำรวจชุมชนเพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค (โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม โรคเบาหวาน โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบําบัด รังสีบําบัด และภูมิคุ้มกันบําบัด) และหญิงตั้งครรภ์ 2.ให้บริการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน ด้วยชุดตรวจเอทีเค 3.ให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นก่อนส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยการจ่ายยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และให้คำแนะนำในการแยกกักที่บ้าน และมอบชุดโฮม ไอโซเลชั่น ให้ผู้ป่วยที่สามารถกักตัวที่บ้านได้ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ทีมจะนำผู้ป่วยนำส่งศูนย์พักคอยฯ 4.ดำเนินการกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่บ้าน และมอบชุดโฮม ควอรันทีน (HQ: Home Quarantine) หรือส่งเข้าศูนย์กักตัวของท้องถิ่น (LQ: Local Quarantine) ตามความเหมาะสม 5.ให้บริการฉีดวัคซีนกับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ และ 6.สื่อสารทำความเข้าใจ ให้ความรู้แก่ประชาชน ตลอดจนการปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากโรคโควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image