ภาคปชช.ย้ำจุดยืนเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า อนาคตไทยสังคมผู้สูงวัย แต่ให้แค่คนจน ยิ่งอัปยศ

ภาคปชช.ย้ำจุดยืนเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า อนาคตไทยสังคมผู้สูงวัย แต่ให้แค่คนจน ยิ่งเป็นความอัปยศของรัฐ จุตินั่งหัวโต๊ะฟังข้อเสนอจ่ายแค่คนจนพรุ่งนี้

ความคืบหน้ากรณีคณะอนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ภายใต้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เสนอผลศึกษาการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ด้วยเกณฑ์คัดรายได้ขั้นต่ำให้เฉพาะกลุ่มคนยากจน จากปัจจุบันที่จัดสรรบบถ้วนหน้า ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นั้น

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ประเด็นที่เรากังวลคือแล้วข้อสรุปของคุณจะออกมาเป็นอย่างไร จะยังเหมือนเดิม หรือให้เฉพาะคนจน หรือคนเก่าที่จ่ายอยู่ก็จ่ายไปเรื่อยๆ แต่คนใหม่จะจ่ายเฉพาะคนจน นี่คือสิ่งที่เรากังวล ทั้งที่จริงควรยึดหลักการถ้วนหน้าไปตลอด ไม่ใช่ว่าเครือข่ายภาคประชาชนออกมาทักท้วงแล้วก็ค่อยออกมาแก้ตัว

“เพราะนั้นขอยืนยันว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพต้องเป็นไปแบบถ้วนหน้า ทั้งผู้สูงอายุเดิมที่รับเบี้ยยังชีพอยู่ในปัจจุบัน และคนที่กำลังจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุในอนาคต หลักการคือสิทธิ รัฐไม่ต้องคัดกรอง แต่ใช้เกณฑ์อายุ วัน เดือนปี เกิด ส่วนคนที่มีรายได้สูงถ้าเขาประสงค์จะบริจาคก็เป็นเรื่องของเขา แต่เรื่องสิทธิในฐานะพลเมืองเราต้องเคารพ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาบอกว่ารวยแล้วไม่ให้รับ ไม่เช่นนั้นนายกรัฐมนตรีรวยแล้วก็ไม่ต้องรับบำนาญได้หรือไม่”

“สิ่งที่พวกคุณกำลังคิด กำลังเตรียมการอยู่นั้นน่ากลัว เพราะหากไม่ได้คิดกันเอาไว้ จะมาประชุมกันเรื่องนี้ทำไม ไม่ต้องพิจารณา ไม่ต้องตั้งกรรมการศึกษา ที่บอกว่ามีการรับเงินซ้ำซ้อนก็แค่เคาะมาว่าซ้ำซ้อนอย่างไร ไม่ต้องไปเรื่องอื่น ถ้าไม่โวยก็จะมาสรุปว่าต่อไปนี้จะให้เฉพาะคนนี้ๆ“ นายนิมิตกล่าว

Advertisement
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ออกมาแถลงข่าวตอนหนึ่งว่าอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ ดังนั้นการสวัสดิการต่างๆ ก็จะเป็นภาระผูกพันขึ้นด้วย

นายนิมิตร กล่าวว่า ถ้ามองว่าการจ่ายสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ เป็นภาระก็ไม่ควรเป็นรัฐมนตรีพม. ต้องมองว่าสวัสดิการที่ให้ผู้สูงอายุนั้นเป็นการพัฒนาทรัพยากรของประเทศที่มีผลต่อตัวผู้สูงอายุ และครอบครัวผู้สูงอายุ

“ถ้ามองว่าอนาคตจะเป็นสังคมผู้สูงวัยแล้วจะเลือกให้เฉพาะคนจนยิ่งเป็นความอัปยศของรัฐ รัฐมีหน้าที่ต้องจัดสวัสดิการให้ประชาชน ดังนั้นต้องดูว่ารัฐจะจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุอย่างไร และรัฐมีหน้าที่ไปเกลี่ยการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม เพราะถ้าพูดถึงแล้ววันนี้ข้าราชการเกษียณ 7 แสนคน ได้รับเงินบำนาญรวมกว่า 4 แสนล้านบาท ขณะที่ผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน ได้เงิน 7 หมื่นล้านบาท รัฐก็มีหน้าที่ไปเกลี่ยให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้งบประมาณ” นายนิมิตร กล่าว

Advertisement

นายนิมิตร กล่าวว่า ในวันที่ 23 ก.ย. เครือข่ายภาคประชาชนชนจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงรมว.พม. ในเวลา 10.00 น. เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องชัดเจนให้หยุดคิดเรื่องนี้ ให้คงการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า และพัฒนาเบี้ยยังชีพให้เพียงพอกับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ

ด้าน นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ข้อเสนอของคณะทำงานดังกล่าวจะถูกนำเสนอเข้าที่ประชุม กผส.ในวันที่ 23 กันยายน ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ มอบหมายให้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.เป็นประธานประชุม แต่ส่วนตัวมองว่านายจุติก็คงไม่เอาอยู่แล้ว เพราะเดิมพรรคประชาธิปัตย์ได้ผลักดันการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า ฉะนั้นคิดว่าคนที่ได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่แล้วก็จะได้รับจนกว่าจะเสียชีวิต แต่อาจมีผลกับผู้รับเบี้ยผู้สูงอายุรายใหม่มากกว่า ซึ่งต้องศึกษาไว้ เพราะต้องเข้าใจว่าหากประเทศมีสัดส่วนประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 50 ในสัดส่วนประชากรทั้งหมดแล้ว ถึงเวลานั้นจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย ฉะนั้นจะเปลี่ยนเป็นสวัสดิการบำนาญดูทั้งภาพรวมมากกว่าสวัสดิการเฉพาะกลุ่มอย่างนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image