ชาวปากพนังร้องงบ 80 ล้าน สร้าง รพ.ประจำอำเภอ 11 ปีไม่เสร็จ ผู้รับเหมาทิ้งงาน วอน สธ.เร่งติดตาม

ชาวปากพนังร้องงบ 80 ล้าน สร้าง รพ.ประจำอำเภอ 11 ปี ยังไม่เสร็จ ผู้รับเหมาทิ้งงาน 2 ครั้ง วอน สธ.เร่งติดตาม

เมื่อวันที่ 24 กันยายน นายนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ชาวบ้าน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เข้าร้องเรียนสื่อมวลชนว่า จากที่ได้ติดตามการก่อสร้างอาคารของโรงพยาบาล (รพ.) ปากพนัง ซึ่งเป็น รพ.ประจำอำเภอ ใน จ.นครศรีธรรมราช มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าการก่อสร้างนี้ได้รับงบประมาณเมื่อปี 2552 จำนวน 80 ล้านบาท แยกเป็น 1.งบจัดสรรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 60 ล้านบาท 2.งบลงทุน ร้อยละ 10 เขตสุขภาพ 10 ล้านบาท และ 3.สมทบเงินบำรุง รพ. 10 ล้านบาท เป็นอาคาร 5 ชั้น ขณะนี้เปิดใช้งานได้เพียง 2 ชั้น อีก 3 ชั้นยังไม่แล้วเสร็จ โดยเริ่มก่อสร้างครั้งแรกช่วงวันที่ 4 ต.ค.2553-วันที่ 27 ส.ค.2555 ไม่แล้วเสร็จ เพราะผู้รับเหมาทิ้งงาน ครั้งที่ 2 ได้ผู้รับเหมารายใหม่ เริ่มสัญญา วันที่ 22 มิ.ย.2558-วันที่ 1 ก.ค.2559 แต่ผู้รับเหมาทำงานไม่แล้วเสร็จและได้ทิ้งงานไป ค้างงวดสุดท้าย ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงได้บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2561 เนื่องจากงานไม่แล้วเสร็จ ผู้รับจ้างไม่ทำงานตามสัญญาจ้าง

“ผ่านมานานกว่า 11 ปีแล้ว ในฐานะคนปากพนังอยากทวงถามว่าเมื่อไร รพ.ที่เป็นที่พึ่งของพวกเราชาวบ้านในยามเจ็บป่วยจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งหากสร้างเสร็จตามแผนก่อนหน้านี้ รพ.ปากพนัง ที่เป็น รพ. 90 เตียง ถึงตอนนี้อาจมีแผนขยับเป็น 120 เตียงแล้ว ก็จะสร้างการเข้าถึงระบบสาธารณสุขให้ชาวบ้านลุ่มน้ำปากพนังขึ้นอย่างมาก เห็นได้ชัดในกรณีเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ามาร่วมในการแก้ปัญหานี้ ในการติดตามเรื่อง และกำชับการบริหาร จัดสรรบุคลากร เพื่อให้งานส่วนนี้สามารถเดินหน้าไปได้ รวมถึงควรตรวจสอบภายในด้วยว่ามีอะไรติดขัด ที่ส่งผลต่อการบริหารและทำให้โครงการนี้ไม่แล้วเสร็จหรือไม่ และไม่อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนเป็นไทยเฉย ไม่ช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน เพราะที่ผ่านมาแจ้งไปหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ” นายนนทิวรรธน์กล่าว

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตนเห็นข้อมูลแล้วแต่ขอให้ทางทีมงานตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้งก่อน และในเร็วๆ นี้ จะลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ไปติดตามตรวจสอบด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ทั่วประเทศมีหลายโครงการที่ยื่นมาในลักษณะดังกล่าว เพราะเมื่อได้รับงบประมาณไปแล้วเซ็นสัญญาแล้ว แต่ได้ผู้รับเหมาที่อาจมีการฟันราคากัน แล้วทิ้งงานไป ซึ่งทั่วประเทศมีอีกหลายที่ โดยช่วงแรกๆ ที่เข้ามารับตำแหน่งท่าน รมว.สาธารณสุขได้มอบหมายให้ตนไปเคลียร์ แต่ปรากฏว่า ยังแก้ไขไม่ได้ในบางส่วน ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาที่จะจูงใจผู้รับเหมาเข้ามาทำต่อ ก็ทำได้ยาก เพราะยังเป็นราคาเดิม แต่ถ้าเราจะทำราคาเพิ่มแล้วไปทำงบประมาณใหม่ ก็ต้องพิจารณาตามเกณฑ์กรมบัญชีกลาง จึงแก้ไขได้ยาก ซึ่งคาดว่ากรณี รพ.ปากพนัง ก็คล้ายกับหลายแห่ง

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. /แฟ้มภาพ

“ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางแก้ไขชัดเจน เพราะต้องแก้ไขระบบในเชิงการบริหารแผนสัญญา การรับเงินงบประมาณ การจัดการของพื้นที่ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเซ็นและบริหาร แต่ได้ย้ำไปที่ผู้อำนวยการ รพ. ว่าหากได้ผู้รับเหมาที่ฟันราคามา จะต้องกำกับให้งานเดินตามงวดตลอด ซึ่งก็จะรวมถึงผู้รับเหมาที่มีทั้ง มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ ถ้ามีคุณภาพพอ แม้จะช้าแต่ก็ยังกลับมาทำได้ แต่ในผู้รับเหมาที่มาฟันราคาแต่ตัวเองไม่มีศักยภาพ ถึงเวลาก็ทิ้งไป” นายสาธิตกล่าว

Advertisement

นายสาธิตกล่าวว่า การดำเนินการที่ทำได้ก่อน คือ กำชับให้ ผอ.รพ.บริหารแผนสัญญาให้ดี เนื่องจากจะกระทบต่อการพิจารณาเลื่อนขั้น แต่ไม่ถึงกับสั่งให้ย้าย รวมถึงเร่งขอแก้ไปที่กรมบัญชีกลางให้ได้ อย่างเช่นที่ จ.ระยอง ประมูลไปต่ำกว่าราคา ร้อยละ 20 เราก็ให้รองปลัด สธ. ไปดูการดำเนินการกับแผนในสัญญา แต่ก็พบว่า ทำได้ดีตามสัญญา

“รพ.ที่สร้างไม่ทัน หรือสถานที่ที่ไม่สามารถดำเนินการลดความแออัดในการบริการประชาชน ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจถึงหลายพันล้าน แต่ต้องคิดถึงค่าเสียโอกาสในการบริการผู้ป่วยด้วย ดังนั้น เป็นความเสียหายในแง่ระบบ ถึงกระทบพอสมควร ถือเป็นประมาณร้อยละ 20 ของระบบ เราก็กำชับไปที่ ผอ.รพ.ให้บริหารแผนสัญญาให้ตรงตามงวด” นายสาธิตกล่าว

นายสาธิตกล่าวอีกว่า พยายามขอแก้ไขระเบียบฉบับหนึ่ง ซึ่งกรมบัญชีกลางยังไม่แก้ไขให้ คือ เรื่องการประกวดราคาโดยคำนึงถึงศักยภาพด้วย ไม่ใช่ยึดราคาต่ำสุดอย่างเดียว เพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้น ถ้ากรมบัญชีกลางเห็นด้วย การจ้างงานก็จะไม่พิจารณาเฉพาะผู้ที่เสนอราคาถูกที่สุดเท่านั้น แต่ต้องดูผลงานประกอบด้วย เพื่อเป็นการตัดสินใจจัดจ้าง หากไม่แก้ตรงนี้ ผอ.รพ.ก็จะไม่กล้าจ้างคนที่ราคาไม่ต่ำสุด ซึ่งที่ผ่านมาตนหารือร่วมกับปลัดกระทรวงการคลังแล้ว แต่ก็จะต้องไปคุยกันใหม่ในเรื่องกฎหมายกระทรวงการคลัง เพราะเกี่ยวข้องกับการที่ใช้ระบบอีบิดดิ้ง (e-bidding) ด้วย ส่วนงบประมาณการก่อสร้างที่ผูกพันกัน ก็ขึ้นอยู่กับปลัด สธ. ว่าจะนำงบจากส่วนไหนมาใช้ เพราะในการหาผู้รับเหมาใหม่ ก็อาจต้องจ่ายเพิ่มในการซ่อมแซมส่วนก่อสร้างที่ถูกทิ้งงานไป เช่น เหล็กเก่า สร้างใหม่ ซึ่งการเบิกต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง หรืออาจใช้เงินบำรุง หรืองบเหลือจ่ายในส่วนใด ก็จะเป็นการแก้ทั้งระบบ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image