กรมอนามัยเตือนโควิดคลัสเตอร์ศูนย์พักพิง ย้ำ! ประเมินอาการสำคัญ หากป่วยต้องแจ้งทันที

กรมอนามัยเตือนโควิดคลัสเตอร์ศูนย์พักพิง ย้ำ! ผู้ประสบภัย-ผู้ช่วยเหลือ ประเมินอาการสำคัญ หากป่วยต้องแจ้งทันที

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่กระทรวงสาธาณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงแนวทางการปฏิบัติตัวช่วงน้ำท่วมกับการป้องกันโรคโควิด-19 ว่าสถานการณ์อุทกภัยจากพายุเตี้ยนหมู่ ช่วงวันที่ 23-28 ก.ย. พบผลกระทบใน 30 จังหวัด 145 อำเภอ 548 ตำบล 2,401 หมู่บ้าน 71,093 ครัวเรือน พบเสียชีวิต 6 ราย และสูญหาย 2 ราย

ทั้งนี้ ภาวะน้ำท่วมมาพร้อมความเสี่ยงต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสุขภาพ ต้องเตรียมพร้อมรับมือคือ 1.ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด 2.นำสิ่งของในครัวเรือนขึ้นที่สูงลดความเสียหาย 3.รู้เบอร์โทรฉุกเฉิน 4.เรียนรู้เส้นทางอพยพไปที่ปลอดภัยใกล้บ้านที่สุดหากน้ำท่วมฉับพลัน 5.เตรียมโทรศัพท์มือถือ เครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ทำอาหาร อาหารแห้ง น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค และอุปกรณ์สิ่งจำเป็นต่างๆ ให้พร้อมเพียงพอ 6.หากอยู่พื้นที่เสี่ยงควรเตรียมกระสอบทราบอุดปิดช่องว่างที่น้ำจะไหลเข้าบ้าน 7.นำรถยนต์ยานพาหนะไปจอดในพื้นที่น้ำท่วมไม่ถึง 8.ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เตาแก๊ส ยกเบรกเกอร์ ปิดบ้านให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน นำสัตว์เลี้ยงไปที่ปลอดภัย 9.เขียนที่ฟิวส์หรือเบรกเกอร์ว่าตัวใดควบคุมการใช้ไฟฟ้าจุดใด และ 10.หากเกิดน้ำท่วมฉับพลันไม่ควรขับรถฝ่าทางน้ำหลาก ให้ออกจากรถและไปอยู่ในที่สูงทันที

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า แม้เผชิญปัญหาน้ำท่วมแต่เรามีสถานการณ์โรคโควิด-19 อยู่ ซึ่งพื้นที่ประสบน้ำท่วมส่วนใหญ่สถานการณ์ระบาดไม่รุนแรงมาก แต่ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ เนื่องจากโอกาสแพร่ระบาดของโควิด-19 คือผู้คนที่หลีกหนีหลบภัยน้ำท่วมมารวมกันที่ศูนย์พักพิง ดังนั้น ผู้จัดการหรือควบคุมดูแลศูนย์พักพิงต้องดำเนินมาตรการป้องกันโควิด 2 ประการ คือ 1.จัดการสิ่งแวดล้อม สุขลักษณะ สุขอนามัยและสุขาภิบาล เพื่อป้องกันโรคต่างๆ และโควิด-19 ทำความสะอาดพื้นผิว จัดระบบถ่ายเทอากาศ จัดการไม่ให้คนรวมกันแออัด และ 2.การจัดการให้ผู้คนในศูนย์อพยพมีความปลอดภัย

กลุ่มแรกคือ ประชาชนที่หลบภัยน้ำท่วม หากมีอาการคล้ายโควิด โรคระบบทางเดินหายใจ ต้องแจ้งบุคลากรสาธารณสุข หรืออาสาสมัคร เพื่อนำไปตรวจและดูแลรักษาเหมาะสม หากไม่มีอาการหรือประวัติเสี่ยง เมื่อเข้ามาศูนย์พักพิงให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ประยุกต์สอดรับสถานกาณ์น้ำท่วม คือล้างมือบ่อยๆ ซึ่งป้องกันทั้งโควิด-19 และโรคติดต่อที่อาจมากับอาหารและน้ำ เลี่ยงสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก ตา ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน กินสุกร้อน แยกกันกินอาหาร รักษาระยะห่าง ลดจับกลุ่มพูดคุย สวมหน้ากาก รักษาดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวที่อยู่ในศูนย์พักพิง อีกกลุ่มคือ บุคคลที่ไปช่วยเหลือต้องประเมินตนเอง หากไม่สบาย มีโรคทางเดินหายใจคล้ายโควิด-19 ควรหยุดพักและไม่ไปช่วยเหลือ ดำเนินมาตรการป้องกันตนเองตลอดเวลา ซึ่งจะป้องกันทั้งตัวเองและประชาชนที่ไปช่วยจัดการศูนย์พักพิงให้ปลอดภัย

Advertisement

“หากผู้จัดการศูนย์อพยพ ผู้ให้การช่วยเหลือมีความรู้ความเข้าใจจะลดความเสี่ยงและโอกาสเกิดคลัสเตอร์ศูนย์พักพิงที่มีคนมารวมตัวกัน โดยทุกคนรวมถึงผู้อพยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองตลอดเวลา โดยอีกจุดเสี่ยงคือ การบริจาคมอบข้าวของต้องตรวจเช็กความสะอาด เช่น น้ำดื่ม ขวดต้องสะอาด อาหารกล่องปรุงสุกใหม่ ควรบริโภคใน 4 ชั่วโมง เพราะอาจบูดเสีย เกิดโรคติดเชื้อจากอาหาร และย้ำว่าศูนย์อพยพอาจหลีกเลี่ยงการเว้นระยะห่างได้ยาก จึงต้องแทรกมาตรการอื่นๆ ทั้งล้างมือสม่ำเสมอ ไม่สัมผัสใบหน้า จมูก ปาก สวมหน้ากาก ไม่สบายเจ็บป่วยแจ้งคนดูแล ถ้าทำโดยรวมก็จะปลอดภัยทั้งโรคโควิด-19 หรือโรคและภัยที่มาพร้อมกับน้ำท่วม” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สธ.ดำเนินการรับมือภาวะน้ำท่วม 4 ประการคือ 1.สถานพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมให้บริการแม้เผชิญเหตุน้ำท่วม หรือนำส่งต่อผู้ป่วยไปสถานพยาบาลอื่นที่ปลอดภัยและพร้อมมากกว่าหากให้บริการไม่ได้ 2.ปรับการจัดบริการสถานพยาบาลให้สอดคล้องสถานการณ์ 3.บริหารจัดการเชิงรุกดูแลกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ติดเตียง ในพื้นที่ยากลำบาก อาศัยทีมหมอครอบครัว อาสาสมัคร ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และ 4.มีการสื่อสารสร้างความรอบรู้จัดเตรียมให้บริการในเรื่องสุขอนามัยสุขาภิบาล โรคมากับน้ำท่วม ทั้งนี้ น้ำท่วมมาแล้วก็ผ่านไป สิ่งสำคัญคือการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจตนเอง ช่วงภาวะน้ำท่วมมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องมาช่วยกัน หากเราสุขภาพแข็งแรงรับมือภัยนี้ เมื่อน้ำผ่านไปก็ฟื้นฟู กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สำหรับการปฏิบัติตัวระหว่างน้ำท่วมคือ 1.ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อบ้านถูกน้ำท่วมทันที 2.หลีกเลี่ยงงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ เว้นแต่จะแห้งสนิทและไม่ชำรุด 3.ระวังสัตว์อันตราย เช่น งู ตะขาบ ที่อาจจะหนีน้ำเข้ามาในบ้าน 4.ระวังแก๊สรั่ว 5.ทำความสะอาดสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ ห้ามบริโภคทุกสิ่งที่สัมผัสน้ำ เพราะอาจมีสิ่งปฏิกูลเชื้อโรคปะปนมา และ 6.ขับถ่ายถูกสุขาภิบาล โดยใช้ส้วมเฉพาะกิจ โดยเอาถุงพลาสติกมาประยุกต์กับเก้าอี้พลาสติกเจาะรู ถังพลาสติก หรือลังกล่องกระดาษโดยใช้ถุงครอบมิดชิด ถ่ายในที่มิดชิด ถ่ายให้ลงถุง เสร็จแล้วใช้ปูนขาวหรือขี้เถ้าจำนวนหนึ่งทำลายเชื้อ มัดถุงให้แน่นเพื่อป้องกันแพร่กระจาย รวบรวมไปรอกำจัด

Advertisement

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ส่วนข้อควรระวังช่วงน้ำท่วมคือ 1.ไม่เดินไปในเส้นทางน้ำหลาก เพราะอาจถูกน้ำพัดพาสูญหาย 2.ไม่ควรขี่จักรยานลุยน้ำ เพราะอาจมีหลุมบ่อที่มองไม่เห็นทำให้บาดเจ็บได้ 3.ระวังสัตว์มีพิษ 4.ระวังการใช้เตา อาจเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5.สวมรองเท้าบู๊ต วัสดุป้องกัน หรือถุงพลาสติกเวลาเดินย่ำน้ำ เพื่อลดโอกาสถูกของมีคมบาด หรือเชื้อโรคมากับน้ำเข้าไปในบาดแผลหรือโรคฉี่หนู 6.ไม่ควรเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ และ 7.ระวังแก๊สรั่ว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า น้ำท่วมมาแล้วต้องผ่านไป สิ่งที่ควรทำหลังน้ำลดคือ 1.ตรวจสอบระบบไฟฟ้า หลายกรณีประชาชนกลับเข้าไปในบ้านมักเกิดไฟฟ้าดูด 2.สำรวจความเสียหายโครงสร้างบ้านและบริเวณโดยรอบเพื่อความปลอดภัยและซ่อมแซม 3.เตรียมการก่อนล้างทำความสะอาดบ้าน ได้แก่ อุปกรณ์ทำความสะอาด อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง รองเท้ายาง ฯลฯ 4.ดูแลปรับปรุงห้องครัว ขัดล้างขจัดคราบเพราะน้ำท่วมขังเวลานานอาจเกิดเชื้อรา 5.ทำความสะอาดทันทีหลังน้ำลดจะขจัดคราบได้โดยง่าย 6.ดูแลปรับปรุงห้องส้วม เพราะหลายกรณีพบว่าเมื่อน้ำท่วมลดลง ส้วมเต็มหรืออุดตัน ให้นำน้ำหมักชีวภาพเทราดลงคอห่านหรือโถส้วม หากแก้ไขไม่ได้ให้ช่างสุขภัณฑ์มาดำเนินการต่อไป 7.ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้าควรซักให้สะอาดผึ่งให้แห้งก่อนนำมาใช้ 8.คัดแยกขยะ ซึ่งบางอย่างทำความสะอาดเอากลับมาใช้ได้ หรือเอาไปรีไซเคิล ควรแยกทิ้งให้เหมาะสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image