คน ป่า ชุมชน เส้นทางอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีอย่างยั่งยืน(ชมคลิป)

คน ป่า ชุมชน เส้นทางอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีอย่างยั่งยืน

“บ้านห้วยสะพาน” ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เป็นชุมชนเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีการตั้งถิ่นฐานทำกินมาไม่ต่ำกว่า 400 ปี ทุกวันนี้ ซากโบสถ์เก่าวัดคงคาซึ่งเป็นวัดร้าง สระน้ำโบราณ และต้นไม้เก่าแก่อายุนับร้อยปี ยังคงปรากฏซากเหลืออยู่ให้เห็นอยู่บ้าง

จุดเริ่มต้นของการจัดการป่าชุมชน

Advertisement

สภาพป่าดั้งเดิมของชุมชนบ้านห้วยสะพาน เป็น ป่าเบญจพรรณหรือป่าผสมผลัดใบมีสถานภาพของป่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าหนองโรง มีความสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้นานาชนิด มีความหลากหลายของสัตว์ป่า และมีน้ำในลำธารไหลตลอดปี ต่อมาในปี 2488 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการตัดไม้เพื่อนำไปก่อสร้างทางรถไฟเพื่อใช้ในสงคราม ประกอบกับต่อมาชาวบ้านได้ตัดไม้เพื่อใช้ประโยชน์และเผาถ่านกันมาก อีกทั้งมีโรงงานกระดาษมาขอใช้พื้นที่ป่าเพื่อตัดไม้รวก ไม้ไผ่ ทำเยื่อกระดาษ จนกระทั่งป่าเสื่อมโทรมและมีการจับจองที่ดินทำกินเพื่อปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง นายทุนเข้าจับจองพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้ผืนป่าลดพื้นที่ลงอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลกระทบต่อปริมาณน้ำและความแห้งแล้งของพื้นที่

ชาวบ้านและผู้นำชุมชนในขณะนั้นได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานราชการ ให้เข้ามาช่วยเหลือและผลักดันผู้มีอิทธิพลและกลุ่มนายทุนออกจากพื้นที่ ความพยายามนี้เป็นผลสำเร็จ ชาวบ้านจึงเห็นสมควรให้มีการทำแนวเขตเพื่อป้องกันการบุกรุก โดยใช้แนวต้นไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และในปี 2517 ได้มีการรังวัดและปักหลักเขตด้วยเสาคอนกรีต ทำคันดินเป็นแนวเขตป่า มีเนื้อที่วัดได้ประมาณ 1,008 ไร่

ในระยะแรก การดูแลรักษาป่าเป็นหน้าที่ของกลุ่มอาสาสมัครของหมู่บ้าน มีการตรวจลาดตระเวนป่าสลับหมุนเวียนกันไป นอกจากนี้ยังใช้กลุ่มผู้เลี้ยงวัวเป็นผู้สอดส่องดูแลและแจ้งเหตุการกระทำผิดในป่าของชุมชน

Advertisement

ในปี 2543 จากการเริ่มต้นจัดการป่าชุมชนแบบหลวมๆ ก็ได้พัฒนามาเป็นกระบวนการจัดการป่าที่มีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น โดยมีชาวบ้านห้วยสะพาน บ้านใหม่ บ้านหนองกระจันทร์ และบ้านดอนเจริญ รวม 4 หมู่บ้าน ได้เห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้ง “ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี” และเกิดคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบดูแลอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อมีโครงสร้างขององค์กรและแผนการจัดการของป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีที่ชัดเจนแล้ว การขับเคลื่อนกิจกรรมการดูแลรักษาป่า นับเป็นความท้าทายใหม่ที่สมาชิกในชุมชนต้องร่วมมือกันดำเนินงาน ภายใต้ความเอกภาพและเอกลักษณ์ของชุมชน ทำให้ความร่วมมือในการจัดการป่าดีขึ้นเป็นลำดับ มีการจัดทำแนวกันไฟทุกปี เพื่อกันพื้นที่ป่าทั้ง 1,008 ไร่ ไว้ให้ได้ พร้อมปลูกต้นไม้เสริมในเขตป่าชุมชน เติมเต็มด้วยการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะในการจัดการป่าชุมชน จากหน่วยงานด้านป่าไม้ในจังหวัดกาญจนบุรี ตัวแทนชาวบ้านเข้ารับการอบรมหลักสูตร “ป่าชุมชน” ทำให้สามารถขยายแนวร่วมในการปลูกต้นไม้จากเขตป่าสู่ที่สาธารณะ วัด โรงเรียน สองข้างทาง ริมคลองส่งน้ำ ได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

ในปี 2542 ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากกรมป่าไม้ให้เป็น “ป่าพื้นบ้าน อาหารชุมชนดีเด่นระดับเขต” เป็นบทพิสูจน์ของความร่วมแรงร่วมใจ ชาวบ้านและชุมชนบ้านห้วยสะพานได้ข้อสรุปว่า กระบวนการจัดการป่าชุมชน เนื้อแท้แล้วก็เพื่อที่จะให้เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งในมิติทางด้านนิเวศ สังคม และเศรษฐกิจของชุมชนไปพร้อมๆ กัน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image