ศบค.จ่อถก 11 ต.ค. ประเมินสถานการณ์โควิด-คลายล็อกเพิ่ม

ศบค.จ่อถก 11 ต.ค. ประเมินสถานการณ์โควิด-คลายล็อกเพิ่ม

เมื่อวันที่ 29 กันยายน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยในช่วงแถลงรายงานสถานการณ์ประจำวันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่าผลการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 28 กันยายน มีการฉีดทั้งสิ้น 726,805 โดส ทำให้มีการฉีดวัคซีนแล้วรวม 50,867,498 โดส จังหวัดที่ฉีดวัคซีนเกินร้อยละ 50 ของประชากร มีทั้งสิ้น 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก พังงา ภูเก็ต และระนอง ส่วนที่ฉีดใกล้จะถึงร้อยละ 50 หรือ ร้อยละ 40-49 มี 9 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี นครปฐม ยะลา สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระยอง สิงห์บุรี และบุรีรัมย์

“แต่ถ้าแยกการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี พบว่ามีจังหวัดที่ฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้เกินร้อยละ 70 แล้ว จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา พังงา ภูเก็ต ระนอง และมีอีกหลายจังหวัดที่ฉีดเกินร้อยละ 50-69 แล้ว ทั้งนี้ ปัจจัยการฉีดวัคซีนมีผลสำคัญอย่างยิ่งในการเปิดบ้านเปิดเมือง สถานประกอบการที่พร้อมจะเปิดรับนักท่องเที่ยว เปิดกิจการ กิจกรรม จะได้เตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน บุคลากรไปพร้อมๆ กันด้วย” พญ.อภิสมัยกล่าว

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ประมาณวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ศบค.จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์และหารือถึงการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม หากสถานการณ์ดีขึ้นจะมีมาตราการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นแน่นอน สำหรับข้อกำหนด ข้อห้ามต่างๆ ยังไม่มีการผ่อนมาตรการลง แต่ในเดือนตุลาคมนี้จะมีการผ่อนปรนต่างๆ ดังนี้ เปิดโรงภาพยนตร์ คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ร้านทำเล็บ ร้านสัก ร้านเสริมสวย สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สระว่ายน้ำ ยิม ฟิตเนส ให้เปิดดำเนินกิจการได้โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่กิจการที่ยังคงปิดอยู่ คือสวนสนุก สวนน้ำ ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเหม การจัดเลี้ยง หรือจัดประชุม

Advertisement

“ส่วนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 34) นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแล้ว รอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 นี้เป็นต้นไป ขอให้ประชาชนศึกษาข้อกำหนดนี้และให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นประมาณวันที่ 11 ตุลาคม ศบค.ก็จะเริ่มพิจารณา ถ้าเป็นไปในทิศทางที่ดีก็จะมีการผ่อนคลายกิจการ กิจกรรม เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” พญ.อภิสมัยกล่าว

สำหรับสาระหลักสำคัญของประกาศ ฉบับที่ 34 มีดังนี้ ห้ามออกนอกเคหสถาน เวลา 22.00-04.00 น.อย่างน้อย 15 วัน ห้ามรวมคนมากกว่า 25 คน บริโภคในร้านอาหารได้ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ นั่งได้ 75% มีเครื่องปรับอากาศ นั่งได้ 50% เล่นดนตรีได้ เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. (งดจำหน่ายและดื่มสุราในร้านอาหาร)

ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. (งดตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม สวนสนุก สวนน้ำ และห้องประชุม/จัดเลี้ยง) ร้านเสริมสวย ร้านนวด สปา สถานเสริมความงาม เปิดได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. ยกเว้นการใช้ไอน้ำ

สถานศึกษาทุกระดับ สถาบันกวดวิชา ให้ใช้อาคารสถานที่ กิจกรรมที่มีการรวมคน ให้ผ่านความเห็นชอบจากผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image