วสท.ขอ ปชช.อย่าตกใจ! ยันน้ำไม่ถึงครึ่งปี’54 แต่ท่วมบางพื้นที่ แนะรัฐทำฟลัดเวย์

วสท.ขอ ปชช.อย่าตกใจ! ยันน้ำไม่ถึงครึ่งปี’54 แต่ท่วมบางพื้นที่ แนะรัฐทำฟลัดเวย์

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วย นายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย รศ.สมิตร ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. และนายเกษม ปิ่นทอง ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. ร่วมแถลงวิเคราะห์ความเสี่ยงสถานการณ์อุทุกภัยปี 2564
นายธเนศ กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ แม้ว่าพายุจะซาลงแล้ว แต่น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนก็ยังมีมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำ เพราะหากปล่อยให้เกินพิกัดอาจเกิดอันตรายได้

นายชวลิตกล่าวว่า พายุเตี้ยนหมู่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ จ.อุบลราชธานี และตามแนวที่พายุวิ่งผ่านไปจนถึง จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่ค่อยมีฝนตก แต่พายุเตี้ยนหมู่ทำให้ จ.ชัยภูมิ มีฝนตกถึง 200 มิลลิเมตร (มม.) ในวันเดียว และพายุดังกล่าวเคลื่อนที่เร็ว แต่หากว่าดูปริมาณน้ำแล้ว จะไหลไปไม่ถึง จ.ขอนแก่น

“อยากให้เข้าใจว่า น้ำที่มานั้น มาไม่ถึงครึ่ง ถ้าเทียบกับปี 2554 ทั้งนี้ อัตราการไหลของน้ำสูงสุดในปี 2554 อยู่ที่ 4,720 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) แต่ในเชิงปริมาณ ปี 2554 มีปริมาณมากกว่า 3.5 เท่าของปีนี้ เพราะฉะนั้นอย่าไปตกใจ หากเห็นน้ำวิ่ง ไหลแรง ไหลเร็ว ตัวเนื้อน้ำจริงๆ ประมาณไม่ถึง 1 ใน 3 หรือหากดูในเชิงพื้นที่ก็ยังถือว่าน้อย ไม่ถึงครึ่งของปี 2554 ทั้งนี้ ในทุกๆ มิติของปี 2554 ยังมากกว่าปีนี้” นายชวลิต กล่าว

Advertisement

นายชวลิตกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปีนี้น้ำจะมาน้อย แต่ก็มีพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุ ได้แก่ 1.จ.ชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ต.โพนางดำออก และทั้งพื้นที่ ต.โพนางดำออก อ.สรรพยา 2.จ.สิงห์บุรี แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเสือข้าม วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี และอ.พรหมบุรี 3.จ.อ่างทอง คลองโผงเผง และแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดไชโย อ.ไชโย และ อ.ป่าโมก 4.จ.ลพบุรี ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.พัฒนานิคม 5.จ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณคลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ และริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อ.ท่าเรือ และ อ.นครหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา จรดแม่น้ำเจ้าพระยา 6.จ.สระบุรี ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อ.วังม่วง อ.แก่งคอย อ.เมือง อ.เสาไห้ และอ.บ้านหมอ 7.จ.ปทุมธานี 8.จ.นนทบุรี พื้นที่บริเวณที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และ 9.กรุงเทพมหานคร แนวคันกั้นน้ำบริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

“โดยมีข้อแนะนำในการเตรียมรับมือเร่งด่วนในพื้นที่เสี่ยง คือ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพคันกั้นน้ำ ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เตรียมแผนเผชิญเหตุ พร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก” นายชวลิตกล่าว

ด้าน รศ.สมิตรกล่าวว่า บริเวณที่น่าห่วงคือบริเวณน้ำท่วมซ้ำซาก ภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้ และเพียงแค่การบริหารจัดการอย่างเดียว ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือใหม่ๆ

Advertisement

“เครื่องมือดังกล่าว คือ ฟลัดเวย์ หรือการสร้างคลองรับน้ำใหม่ๆ ทำอ่างเก็บน้ำเล็กๆ เพื่อรองรับน้ำ และระบายได้เร็ว ซึ่งจะสามารถรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้มากที่สุด จึงอยากกระตุ้นให้รัฐบาลได้รับรู้ถึงเรื่องเหล่านี้” รศ.สมิตรกล่าว

นายเกษมกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม และแผนการแก้ไขปัญหาค่อนข้างมาก แต่ทุกอย่างถูกเก็บไว้ การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยาก ทั้งๆ ที่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาในอนาคตได้ ดังนั้น จึงควรเปิดให้มีการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้เพื่อใช้ประโยชน์ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image