สธ. ส่งแพทย์ 144 ทีม ดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบดับ 27 เครียดมาก 2 ราย สถานบริการเสียหายกว่า 78 แห่ง

สธ. ส่งแพทย์ 144 ทีม ดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมกว่า 6 หมื่นราย พบดับ 27 ราย เครียดมาก 2 ราย สถานบริการเสียหายกว่า 78 แห่ง

 

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุ “เตี้ยนหมู่” ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากรวม 264,210 ครัวเรือน ใน 195 อำเภอ จาก 31 จังหวัด มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย เสียชีวิต 27 ราย และสูญหาย 1 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด สำหรับสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา  รพ.สต.โนนพะยอม  รพ.สต.ศรีบุญเรือง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น และ รพ.สต.บ้านดอนดู่ อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น รวมได้รับผลกระทบ 78 แห่ง สามารถเปิดบริการตามปกติ 48 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 8 แห่ง และปิดบริการ 29 แห่ง โดยมีการย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ให้ได้รับการดูแลตามมาตรฐานต่อไป

 

Advertisement

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า  ได้ส่งทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ 144 ทีม ดำเนินการดูแลประชาชนและผู้ประสบภัยใน 17 จังหวัด รวม 60,467 ราย ประกอบด้วย การดูแลเยี่ยมบ้าน 19,042 ราย แจกยาชุดน้ำท่วม 13,793 ราย ตรวจรักษา 8,597 ราย การให้สุขศึกษา 11,637 ราย ประเมินสุขภาพจิต 7,397 ราย และดำเนินการส่งต่อรักษา 1 ราย โดยอาการเจ็บป่วยที่ตรวจพบมากที่สุด คือ น้ำกัดเท้า 5,295 ราย ตามด้วยอาการทางผิวหนัง เช่น แพ้ ผื่นคัน 992 ราย และเหนื่อย อ่อนเพลีย 894 ราย เป็นต้น ส่วนการประเมินสุขภาพจิตอยู่ในภาวะปกติ 7,395 ราย มีภาวะเครียดระดับมาก 2 ราย ได้ดำเนินการดูแลแล้ว นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์จากส่วนกลาง 5 พันชุดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ตรัง สุโขทัย และกำแพงเพชร

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และผลกระทบด้านโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคที่มากับน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้พบอาการระบบทางเดินหายใจ 684 ราย โรคระบบทางเดินอาหาร 164 ราย  อุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษ 8 ราย ส่วนโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส โรคฉี่หนู และไข้เลือดออกยังไม่พบรายงาน

Advertisement

 

“ส่วนที่ต้องเน้นย้ำคืออุบัติเหตุ เช่น จมน้ำ ไฟฟ้าช็อต เป็นต้น พบรายงาน 11 ราย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง หากน้ำท่วมบ้านให้ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทันที หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ โดยพื้นที่ที่น้ำลดระดับแล้ว ให้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหลังกลับเข้าบ้าน เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด รวมถึงเฝ้าระวังบุตรหลานที่อาจจมน้ำจากการลงไปเล่นน้ำท่วม” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image