หมอประกิต แนะรัฐบาลคง กม.ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า

หมอประกิต แนะรัฐบาลคง กม.ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี เปิดเผยว่า สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ระบุว่า คณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีคำตัดสินห้ามนำเข้าบุหรี่ไอคอส และสินค้าที่มีอยู่ในตลาดสามารถจำหน่ายได้อีกเพียง 60 วัน ยกเว้นว่านายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ จะเข้าแทรกแซงและกลับคำตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมาก โดยไอคอสเป็นบุหรี่ชนิดใช้ความร้อนโดยไม่มีการเผาไหม้ตัวแรกที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้จำหน่าย เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผู้สูบได้รับสารพิษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ห้ามผู้ผลิตนำไปอ้างว่าบุหรี่ไอคอสมีอันตรายต่อผู้สูบน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา เนื่องจากการได้รับสารพิษน้อยกว่า ไม่ได้หมายความว่ามีอันตรายน้อยกว่า

“คดีดังกล่าวเกิดจากบริษัท เรย์โนลด์ อเมริกัน อิงค์ บริษัทลูกของบริษัท บริติช อเมริกัน โทแบคโค บริษัทบุหรี่รายใหญ่ที่สุดของโลกได้ฟ้องกล่าวหาว่าบุหรี่ไอคอสของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ได้ละเมิดสิทธิบัตรบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อวูส ของบริษัท เรย์โนลด์ฯ 3 ข้อ เกี่ยวกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้กำเนิดความร้อนและระบบควบคุม โดยผู้บริหารบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส จะขอให้สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐยับยั้งคำตัดสินห้ามขายบุหรี่ไอคอสดังกล่าว และจะอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรต่อไป” พญ.เริงฤดีกล่าว

ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ประกาศว่าได้ลงทุนมากกว่าแสนล้านบาท ในการคิดค้นและพัฒนาบุหรี่ไอคอส และเมื่อไอคอสเริ่มเปิดตัวขายในญี่ปุ่นเมื่อปี 2557 บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ได้ประกาศจะบริจาคเงินปีละ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปี ให้แก่มูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ (Foundation for a Smoke-Free Would) ที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีการเผาไหม้ทั่วโลก

“การห้ามขายบุหรี่ไอคอสในอเมริกาจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบุหรี่ไอคอส และธุรกิจของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ซึ่งการต่อสู้คดีจะเข้มข้นและยืดเยื้อ เพื่อให้บุหรี่ไอคอสขายในอเมริกาได้ และเนื่องจากมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า บุหรี่ใหม่ๆ เหล่านี้มีผลกระทบต่อทั้งคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว รวมทั้งต่อเด็กและเยาวชนที่ไม่สูบด้วย

Advertisement

“บริษัทฟิลลิป มอร์ริส พยายามวิ่งเต้นผ่านผู้กำหนดนโยบายประเทศต่างๆ รวมทั้งในประเทศไทย และสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย หรือขัดขวางการที่ประเทศต่างๆ จะออกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า จึงขอให้ผู้บริหารประเทศเลิกความคิดที่จะหารายได้ด้วยการขายสิ่งเสพติดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ธรรมดา หรือบุหรี่ไฟฟ้าล้วนมีสารเสพติดนิโคติน ประเทศไทยจึงควรคงกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าไว้ต่อไป” ศ.นพ.ประกิตกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image