เตือนจับตาพายุ 2 ลูก ‘ไลออนร็อก-คมปาซุ’ พัดเข้าไทย 11-13 ต.ค.นี้

เตือนจับตาพายุ 2 ลูก ‘ไลออนร็อก-คมปาซุ’ พัดเข้าไทย 11-13 ต.ค.นี้

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือทีมกรุ๊ป ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เปิดเผยว่า แม้พายุเตี้ยนหมู่จะบรรเทาลงแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงร่องฝนตามฤดูกาล จึงทำให้เกิดฝนตกหนักในภาคอีสานเหนือและภาคกลาง ทำให้น้ำลดลงได้ช้า จากการคาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วมจากแบบจำลองมองไปข้างหน้า 7 วัน พื้นที่จ.ชัยนาท สิงห์บุรี เริ่มลดลง อ่างทองจะลดช้า เพราะมีพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น สรรพยา อินทร์บุรี และต้องเฝ้าระวังพื้นที่บางบาล บางไทร อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ จะมีน้ำสูงขึ้น 15-30 เซนติเมตร

“เมื่อน้ำสูงขึ้นจะทำให้น้ำประชิดคันกั้นน้ำบริเวณที่ท่วมแล้วจะท่วมมากขึ้น อาจจะทำให้ทะลุคันกั้นน้ำที่ไม่แข็งแรงได้ ต้องดูแลคันกั้นน้ำ ไม่ให้รั่ว เพราะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งการขึ้นลงของน้ำอาจจะทำให้คันแตกได้ถ้าดูแลไม่ดี โดยเฉพาะพื้นที่สามโคกถึง อ.เมืองปทุม ถึงประตู่พระอุดม ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะคันกั้นน้ำยังเป็นฟันหลออยู่ โดยน้ำจะสูงอีกครั้งช่วงวันที่ 17-19 ตุลาคม จากนั้นน้ำจะลดลงในระดับที่ปลอดภัยในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ดังนั้นจากนี้ 1 เดือนต้องดูแลคันกั้นน้ำทุกวัน“

นายชวลิตกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าจับตาพายุที่จะพัดเข้ามในประเทศไทยอีก 2 ลูก ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ โดยลูกแรกจะเข้ามาช่วงวันที่ 11-12 ตุลาคม ชื่อพายุ ”ไลออนร็อก” พัดมาจากฟิลิปปินส์ผ่านไหหลำ เข้าเมืองวินห์ ประเทศเวียดนาม เข้าไทยพื้นที่จังหวัดอีสานเหนือ ได้แก่ นครพนม บึงกาฬ อุดรธานี สกลนครบางพื้นที่ และเลย จะต้องระมัดระวังเรื่องน้ำที่ระบายช้า

Advertisement

“พื้นที่อยู่ติดแม่น้ำโขงไม่น่าห่วง เพราะระบายลงแม่น้ำโขงได้ แต่พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสงครามและท่าอุเทน จะท่วมนาน ส่วน อ.เมืองนครพนมและบึงกาฬ จะระบายน้ำลงแม่น้ำโขงได้ไม่น่าห่วง ส่วนหนองคายอาจจะระบายช้าเพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะที่อุดรธานีต้องระมัดระวังตัวเมือง ระบายน้ำไม่ทัน“

นายชวลิตกล่าวอีกว่า อีกลูกเป็นพายุหมายเลข 18 ชื่อ ”คมปาซุ” ช่วงวันที่ 13-16 ตุลาคม จะผ่านเข้าประเทศไทยทางจังหวัดอีสานเหนือ แต่อาจจะมาไม่ถึง จ.เพชรบูรณ์และลพบุรี ต้องรอดดูผลกระทบที่ประเทศฟิลิปปินส์ว่ารุนแรงแค่ไหน หากรุนแรงจะมาถึงลุ่มแม่น้ำป่าสัก จ.พระนครศรีอยุธยา ซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image