สกู๊ปหน้า 1 : โมเดล กทม. กับคำถาม “ฮาวทู” สู้โควิด 4 จว.ใต้

สกู๊ปหน้า 1 : โมเดล กทม. กับคำถาม “ฮาวทู” สู้โควิด 4 จว.ใต้

สืบเนื่องจากการแถลงข่าวของ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ สวนทางกับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศที่มีแนวโน้มตัวเลขการติดเชื้อใหม่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เกิดจากพฤติกรรมวัฒนธรรมที่มีการนั่งคุยกัน จิบน้ำชายามเช้า เปิดหน้ากากคุยกัน ทานอาหารร่วมกัน และกิจกรรมทางศาสนาประเพณี

ยังพบว่าสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ที่พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,922 คน แยกเป็น จ.ปัตตานี 309 คน สงขลา 666 คน นราธิวาส 501 คน และ จ.ยะลา 446 คน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและประชาชน มีการสั่งการให้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ ลงพื้นที่ทันที

จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่นายกฯตั้งเป้าให้ควบคุมการระบาดภายใน 1-2 เดือน ลดจำนวนผู้ติดเชื้อร้อยละ 10 ต่อสัปดาห์ และคำสั่งการไปพร้อมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดส่ง ยาและเวชภัณฑ์ไปในพื้นที่ ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ 1 ล้านเม็ด ชุดตรวจเอทีเค 20,000 ชุด Oxygen concentrator 100 เครื่อง วัคซีน

แอสตร้าฯ 25,000 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ 100,000 โดส
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะใช้ “โมเดลกรุงเทพฯ” ไปใช้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่มีการติดเชื้อในชุมชนเป็นหย่อมๆ คล้ายกับกรุงเทพฯ ทั้งใช้ชุดเคลื่อนที่เร็ว เร่งฉีดวัคซีน มาตรการบับเบิลแอนด์ซีล เคร่งครัดมาตรการทางสังคม และงดกิจกรรมบางอย่าง เป็นต้น

Advertisement

ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา ประธานชมรมแพทย์ชนบท ยอมรับว่า การแพร่เชื้อโควิดในจังหวัดชายแดนใต้ระบาดหนักมาก ขณะที่รอความหวังวัคซีนล็อตใหญ่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นต้องเร่งทำในสิ่งที่ประชาชนทำกันเองได้ก่อน ทั้งตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มากขึ้น ทั้งชุดตรวจ ATK ที่มีความแม่นยำสูง หรือ RT-PCR เหมือนที่แพทย์ชนบทบุก กทม.เมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา ปูพรมตรวจให้มากที่สุด จังหวัดชายแดน ใต้ก็จำเป็นต้องทำในรูปแบบเดียวกันอย่างรวดเร็ว

“หลังผลตรวจชัดเจนก็นำผู้ติดเชื้อไปรักษาที่ รพ.สนามเป็นหลัก พบว่ามีเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้หาสถานที่ทำ รพ.สนามได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา เพื่อทดแทนการใช้โฮมไอโซเลชั่น ยอมรับว่าส่วนใหญ่จะดูแลยาก เนื่องจากบ้านหลังเล็กมีผู้อาศัยรวมกันหลายช่วงวัยทั้งผู้สูงอายุ เด็ก และคนวัยทำงาน โดยขณะนี้มีการติดเชื้อในชุมชนและครัวเรือน ทำให้ควบคุมยากมากกว่าการติดเชื้อในโรงงานอุตสาหกรรม”

“สิ่งที่นอกเหนือในขณะนี้ คือการได้มาของวัคซีนไม่ควรน้อยกว่า 5 แสนโดส ล่าสุดวัคซีนที่ได้รับจัดสรรแบบปกติไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้โมเดลเดียวกับ กทม.ที่มีการเทวัคซีนหมดหน้าตัก ทำให้สถานการณ์การระบาดใน กทม.ได้อานิสงส์ถึงทุกวันนี้ รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งพิจารณาจัดสรรเพิ่มให้ นอกเหนือจากวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กนักเรียน 12-18 ปี เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่มีการระบาด ยังมีศักยภาพในการระดมฉีดได้แน่นอน”

Advertisement

นพ.สุภัทรกล่าวว่า สาเหตุที่จังหวัดชายแดนใต้ระบาดอย่างน่ากังวล ขอย้ำว่าเกิดจากการระบาดเข้าไปในชุมชนที่หนาแน่นและในครัวเรือน เดิมมีระบาดในโรงงาน ตลาด แต่ช่วงหลังคลายล็อกมากขึ้น ทำให้มีปัญหามากขึ้น พบว่าตัวเลขการระบาดก็เริ่มสูงก่อนการคลายล็อก มีการระบาดต่อเนื่องนานกว่า 1 เดือน ถ้าถามว่าเมื่อจำนวนเพิ่มขึ้นทำไมไม่รีบสกัด ก็ยอมรับว่าอาจจะทำงานช้าเกินไป

“ในทางระบาดวิทยาไม่ได้เฝ้าระวัง เพื่อรีบจัดการก่อนจะบานปลาย เพราะทุกฝ่ายอาจจะพอใจกับภาพรวมในประเทศจากการติดเชื้อที่ลดลง ทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น แต่สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นักวิชาการเริ่มเห็นสัญญาณเตือนและไม่คาดคิดว่าสถานการณ์จะแย่ลงแล้วพลิกฟื้นลำบาก”

“สุดท้าย เอาไม่อยู่ แม้ว่าทุกฝ่ายทุกพื้นที่จะพยายามสกัดการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่โดยไม่ได้ขอกำลังเสริมจากภายนอก แต่ในสถานการณ์ล่าสุด จำเป็นต้องขอกำลังเสริมร่วมกับการเพิ่มวัคซีน เพื่อฉีดให้เร็ว จบตามเป้าหมายภายในเดือนตุลาคม สถานการณ์อาจคลี่ลายไปได้ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากระดมฉีดให้ครบ 2 เข็ม ควบคู่กับการใช้มาตรการเข้มทางสังคม มาตรการทางการปกครอง ทำให้การชะลอ แต่วิธีการเดียวที่จะหยุดการระบาดในชุมชนและครัวเรือนขอย้ำว่าต้องรีบสร้างภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว”

ยอมรับว่าวัฒนธรรมของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการระบาด ประชาชนทำกิจกรรมร่วมกันค่อนข้างมาก ก็ต้องสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนตระหนักและป้องกันตัวเองให้มากขึ้น

ผอ.รพ.จะนะ กล่าวต่อว่า วัคซีนป้องกันโควิด ที่ อ.จะนะ เป็นภาพสะท้อนวัคซีนชายแดนใต้ โดย อ.จะนะ มีประชากรตามกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนจากประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 69,608 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วราว 30,000 คน หรือ 42% ในจำนวนนี้ครบสองเข็มแล้ว ราว 19,000 คน หรือ 27% ไม่มากพอที่จะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ คนเข้าคิวรอฉีดอีกมาก ประโยคที่ว่าประชาชนชายแดนใต้ไม่ยอมฉีดวัคซีนนั้นไม่จริง

“ขณะนี้วัคซีนในสต๊อกของ อ.จะนะ ข้อมูล วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา 19.00 น. ซิโนแวค ยอดยกมา 858 ขวด ใช้ไป 127 ขวด คงเหลือ 731 ขวด (1 ขวดฉีดได้ 1 คน), แอสตร้าฯ
ยอดยกมา 30 ขวด ใช้ไป 15 ขวด คงเหลือ 15 ขวด (1 ขวดใช้ได้ 11-12 คน) หมายถึงมี แอสตร้าฯ สำหรับ 170 คน, ซิโนฟาร์ม ยอดยกมา 1,347 โดส ใช้ไป 314 โดส คงเหลือ 1,033
โดส แต่วัคซีนยี่ห้อนี้มีเจ้าของส่วนใหญ่เป็นองค์กรหรือโรงงาน ไม่สามารถใช้นอกกลุ่มได้ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ ยอดยกมา 1,200 โดส รับเพิ่ม 1,320 โดส ใช้ไป 0 โดส คงเหลือ 2,520 โดส มีนัดหมายฉีดเด็กนักเรียนวันที่ 7 และ 9 ตุลาคม จำนวน 2,535 คน แต่คาดว่าคงไม่มาฉีดเป็นบางส่วน

จะเห็นได้ว่าวัคซีนที่มีนั้น หากฉีดเต็มที่ 1-2 วันก็จะหมดจากคลัง แม้ว่าจะได้รับจัดสรรวัคซีนจากจังหวัดมาเติมต่อเนื่อง แต่แน่นอนว่า ไม่มีวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะมากระจายเพื่อการควบคุมโรคหากจะควบคุมการระบาดในจังหวัดชายแดนใต้ ต้องเทวัคซีนมาจำนวนมาก จัดเพิ่มจากเดิมที่ได้ปกติอยู่แล้ว เพื่อระดมฉีดยืนยันว่าสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้น

มีคนถามว่าแล้วทำอย่างไรให้ อ.จะนะและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานการณ์ดีขึ้นจากโควิด ขอตอบชัดๆ อีกครั้งว่า “วัคซีน”

วัคซีนถ้ายังมีน้อยก็ยากที่จะเอาอยู่ ทำได้เพียงเปิด รพ.สนามไปพลาง เพื่อแก้ที่ปลายเหตุเท่านั้น ขอวัคซีนให้ อ.จะนะ เพิ่มจากปกติที่ได้รับจัดสรรอีก 10,000 โดส รวมอำเภออื่นๆ ด้วย จึงจะเอาอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image