อ.ธรณ์ เล็คเชอร์ “น้ำเบียด” ผลกระทบจากน้ำจืดไหลลงน้ำเค็ม

อ.ธรณ์ เล็คเชอร์ น้ำเบียด ผลกระทบจากน้ำจืดไหลลงน้ำเค็ม

ช่วงนี้น้ำจืดจำนวนมากกำลังไหลจากแผ่นดินลงสู่ทะเล โดยเฉพาะในเขตอ่าวไทยตอนใน จึงนำเรื่องผลกระทบต่างๆ มาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังครับ

เริ่มจากลักษณะของอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก.) จะเห็นว่าเป็นอ่าวปิด 3 ด้าน มีเพียงด้านใต้เท่านั้นที่เปิดสู่ทะเลนอก

ความกว้างของอ่าว 80-90 กิโลเมตร พื้นที่รวมไม่ถึง 9,000 ตารางกิโลเมตร (ขอบที่หัวหิน-สัตหีบ)
เพราะฉะนั้น อ่าวไทยตอนในไม่ได้ใหญ่เลย เทียบกับทะเลสาบใหญ่ๆ ในโลก อ่าวไทยตอนในเล็กกว่าเลคมิชิแกนตั้ง 6.5 เท่า

ADVERTISMENT

แม้จะเทียบกับจังหวัดในเมืองไทย ใหญ่สุดคือโคราช (2 หมื่นตร.กม.)

อ่าวไทยตอนในเล็กกว่าเยอะ มีขนาดแค่ใกล้เคียงศรีสะเกษ/กำแพงเพชร (จังหวัดใหญ่ลำดับที่ 21/22)
เน้นย้ำว่าผมพูดถึง “อ่าวไทยตอนใน” (อ่าวตัว ก.) ไม่ได้หมายถึงอ่าวไทยทั้งหมดที่ใหญ่กว่านี้มาก

ADVERTISMENT

คราวนี้มาดูสภาพทั่วไป ภาพที่เห็นแสดงความลึกบริเวณใช้กันในหมู่นักสมุทรศาสตร์ จัดทำโดย สสน. โดยใช้ข้อมูลความลึกของกรมอุทกศาสตร์มาเป็นข้อมูลฐาน

สีที่เห็นคือความลึกในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับน้ำทะเล (สีแดง) จนไปถึงความลึก 20 เมตร
เราจะเห็นแถบสีแดงเหลืองเขียวลามออกมาจากชายฝั่ง โดยเฉพาะด้านตะวันตกเฉียงเหนือ น้ำบริเวณนั้นลึกไม่เกิน 8 เมตร

อ่าวแห่งนี้มีแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ผมใส่ชื่อไว้แล้ว ไล่จากตะวันออก-ตะวันตก ได้แก่ บางปะกง เจ้าพระยา ท่าจีน และแม่กลอง ยังมีแม่น้ำสายรอง/คลองอีกเพียบ

เมื่อฝนตกหนักในภาคเหนือ/ภาคกลาง น้ำจืดไหลลงมาสู่อ่าวไทยตอนใน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยมี 2 ปัจจัยหลัก

อย่างแรกคือน้ำจืด ทำให้ความเค็มลดลงอย่างเร็ว บางทีเกิดปรากฏการณ์ “น้ำเบียด” สัตว์น้ำทนต่อการเปลี่ยนแปลงฉับพลันไม่ได้ ขึ้นมาตายตามชายหาด

น้ำเบียดเกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม/พฤศจิกายน ส่วนใหญ่จะเกิดทางฝั่งตะวันตก แถวชายฝั่งเพชรบุรี

ดูจากภาพคงเห็นว่าแถวนี้ตื้น อีกทั้งยังมีแม่น้ำทั้งเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง รวมกับแม่น้ำสายรอง เช่น แม่น้ำเพชร

เมื่อน้ำจืดไหลลงมาเยอะ น้ำทะเลมีน้อยเพราะทะเลตื้น น้ำจืดจึงส่งอิทธพลสูง ทำให้เกิดภาวะน้ำเบียดในฝั่งนี้มากกว่าฝั่งตะวันออก (แต่ฝั่งตะวันออกก็เกิดได้นะครับ)

น้ำจืดยังอาจส่งผลต่อปะการัง หากความเร็วลดลงฉับพลัน ทำให้ปะการังฟอกขาวได้
แต่ฝั่งตะวันตกไม่มีปะการัง ยังพอมีหน่อยก็ต้องเลยหัวหินไปถึงเขาเต่า แต่น้อยมาก
ปะการังของจริงที่ฝั่งตะวันตก จะเริ่มที่หมู่เกาะรอบเมืองประจวบ หลุดออกไปจากเขตอ่าวไทยตอนใน ไม่ได้รับอิทธิพลแล้วครับ

ผิดจากฝั่งตะวันออก เราพบปะการังตั้งแต่เกาะสีชัง เรื่อยไปผ่านเกาะล้าน เกาะไผ่ จนสุดที่แสมสาร
ปะการังตะวันออกจึงได้รับอิทธิพลของน้ำจืดที่ลงมากับแม่น้ำ
แต่ถ้าดูจากภาพ จะเห็นว่าทะเลแถวนี้ค่อนข้างลึก 10-20 เมตร ได้รับอิทธิพลจากทะเลนอกเยอะ ผลกระทบของน้ำจืดจึงไม่รุนแรงมาก

ในปี 2554 ช่วงนี้เกิดน้ำท่วมใหญ่ พวกเรานักวิทยาศาสตร์ทางทะเลติดตามดูปะการังแถวเกาะสีชังตลอด พบว่าฟอกขาวเล็กน้อย และฟื้นคืนได้ในที่สุด
แต่นั่นคือ 10 ปีก่อน ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปพอสมควร หากปีนี้มีน้ำเยอะจริง อาจต้องลงกลับไปดูกันสักครั้ง

อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหามากมาย เทียบเท่ากับที่ฟอกขาวจากโลกร้อนเมื่อต้นปีแถวระยองครับ
อีกเรื่องที่มาพร้อมน้ำคือขยะ

เคยเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังไปแล้วว่า การจัดการขยะของไทยยังทำได้ไม่ดีนัก
มากกว่าครึ่งเป็นการฝังกลบที่ไม่ค่อยได้กลบจริง มีอยู่เยอะที่กองไว้

เมื่อน้ำท่วม กองขยะก็มาตามน้ำ ไหลลงแม่น้ำก่อนมุ่งตรงสู่ทะเล กลายเป็นขยะทะเลจำนวนมาก
ขยะไม่ย่อยสลายพวกนั้นจะลอยในอ่าวไทยตอนใน บางทีอาจไปปะทะกับมวลน้ำทะเลนอก เกิดเป็นแพขยะขึ้นมาแถวนอกฝั่งประจวบ

ในอดีตก็เคยเกิดเช่นนี้หลังน้ำท่วมใหญ่ นอกฝั่งประจวบ 10-15 กิโลเมตร
แต่ที่อื่นๆ ก็เกิดได้ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะเขตนั้น ขึ้นกับว่ากระแสน้ำเป็นอย่างไร

ช่วงนี้คงต้องช่วยกันดู หากพบแพขยะต้องรีบแจ้งกรมทะเล ระบบการเก็บขยะทะเลเราพัฒนาขึ้นพอควร
แต่จะพัฒนายังไงก็คงเก็บได้ไม่หมด หากขยะยังเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้น จากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ ที่มีจำนวนพุ่งพรวดจากช่วงโควิด

น้ำจืดยังพาธาตุอาหารจำนวนมากจากแผ่นดินลงทะเล บางจังหวะเหมาะๆ เช่น แดดดี 2-3 วัน อาจเกิดแพลงก์ตอนบลูม

ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ลิ่มน้ำ การเคลื่อนที่กระแสน้ำ ฯลฯ ที่ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดต่ำลงกระทันหัน
ปรากฏการณ์แบบนี้อาจส่งผลต่อการเพาะเลี้ยง ชาวประมงพื้นบ้านตามชายฝั่ง ฯลฯ

การเฝ้าระวังต้องใช้สถานีสมุทรศาสตร์แบบ Real Time วัดข้อมูลต่างๆ ตลอดเวลา เพื่อการแจ้งเตือนได้ทัน
ทั้งอ่าวไทยตอนในมีสถานีสมุทรศาสตร์ดังกล่าวเพียงแค่แห่งเดียว อยู่ที่หน้าสถานีคณะประมง ศรีราชา เป็นการทำงานร่วมกันระหว่งคณะประมง มก./สสน. (สารสนเทศทรัพยากรน้ำ)

เมื่อวันที่ 5-6 ตุลาคม เราพบว่าออกซิเจนในน้ำลดต่ำลงจนแตะศูนย์ และรีบแจ้งเตือน (ภาพในคอมเมนต์ครับ)
แต่ถ้ามีสถานีเดียว จะไม่สามารถตอบโจทย์ในการบริหารจัดการน้ำ แจ้งเตือน ฯลฯ

จึงถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการทำมาหากินในเขตอ่าวไทยตอนใน ที่สัมพันธ์กับน้ำจืดจำนวนมากจากแม่น้ำตามที่บอก

โดยเฉพาะโลกร้อนทำให้หลายต่อหลายอย่างไม่เหมือนเดิม
ผมเป็นอนุกรรมการคณะลุ่มน้ำจืด/น้ำเค็ม ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

เมื่อมีโอกาสเข้าประชุม จึงเสนอแนะว่าเราควรมีสถานีแบบนี้ให้ครบ 3 จุด ครอบคลุมทั้งอ่าวไทยตอนใน
ฝั่งตะวันออกมีแล้วที่ศรีราชา เหลือที่สถานีตอนกลาง (เจ้าพระยา) และสถานีฝั่งตะวันตก (เพชรบุรี)
หากมี 3 สถานีสมุทรศาสตร์ Real Time เราจะเรียนรู้และบริหารความเสี่ยงในการจัดการอ่าวไทยตอนในได้ดีกว่านี้แน่นอน

ยังตอบสนองแผนพัฒนาศก./สังคม ฉบับ 13 ในเรื่องการลดความเสี่ยงจากโลกร้อน
ถึงวันนี้ มีข่าวดีเล็กๆ ว่าคณะทรัพยากรน้ำแห่งชาติเห็นชอบโครงการดังกล่าว และน่าจะเริ่มลงมือทำได้ในไม่ช้า โดยความร่วมมือของกระทรวงอว./สสน./มก. และอีกหลายหน่วยงาน

จุดรูปดาวที่เห็นในภาพ ยังไม่เป๊ะๆ นะครับ มีแค่ศรีราชาเท่านั้นที่ทำแล้ว ที่เหลือยังต้องลองดูอีกหลายปัจจัย
แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ผมเชื่อว่าภายในอนาคตอันใกล้ เราจะป้องกันความเสี่ยง/แจ้งเตือนเรื่องทำมาหากินในอ่าวไทยตอนในได้ดีกว่านี้

และข้อมูลที่ได้ จะมีประโยชน์มหาศาลหากนำไปประยุกต์ใช้ เช่น วาฬบรูด้า ปลาทู สัตว์น้ำต่างๆ ประมง ท่องเที่ยว ฯลฯ

รวมถึงเป็นฐานข้อมูล เพื่อเรียนรู้ระยะยาวเรื่องความเปลี่ยนแปลงในทะเลจากโลกร้อน
และนำไปสู่การต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกแบบใช้ข้อมูลทางวิชาการ ใช้เทคโนโลยี และใช้ความร่วมมือของทุกฝ่าย

เพื่อให้อ่าวไทยตอนในยังคงเป็นหัวใจของทะเลไทยต่อไปอีกนานแสนนานครับ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image