‘อนุทิน’ ลงใต้สัปดาห์นี้ เร่งคุมโควิด ติดตามปัญหาผู้ป่วยพุ่ง กำชับฉีดวัคซีนบรรเทาสถานการณ์

‘อนุทิน’ เตรียมลงใต้สัปดาห์นี้ เร่งคุมโควิด-19 ติดตามปัญหาผู้ป่วยพุ่ง พร้อมกำชับฉีดวัคซีนบรรเทาสถานการณ์ คาดภาคใต้ลดตัวเลขระดับประเทศลดกว่าครึ่ง

เมื่อเวลา 09.33 น. เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดภาคใต้ ว่าช่วงปลายสัปดาห์นี้จะเดินทางไปติดตามสถานการณ์โควิดและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือโอกาสคุยกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เพื่อขอให้ท่านช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราความรุนแรงของโรค เพราะหากติดเชื้อเยอะแล้วสถานพยาบาลอาจไม่เพียงพอ

นายอนุทินกล่าวว่า เราไม่อยากเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกนอกเขตพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ขณะนี้ระบบสาธารณสุข เตียง สถานพยาบาล บุคลากรแพทย์ ยาฟาวิพิราเวียร์ เราก็เตรียมพร้อมรองรับไว้แล้ว มีจำนวนเพียงพอ นอกจากนั้นก็ยังมีระบบเขตสุขภาพที่ช่วยกันดูแลผู้ป่วย ซึ่งภาคใต้เป็นเขตสุขภาพที่ 12 ก็จะมีสงขลา หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช ที่มีโรงพยาบาลศูนย์รองรับ เราจึงต้องลงไปหาวิธีลดการติดเชื้อให้มากที่สุด หากเราดูแลทางภาคใต้ที่มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 2,300 รายได้ ตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ของประเทศก็จะต่ำกว่าหลักหมื่นรายแล้ว พร้อมกันนี้ กรมควบคุมโรคก็จัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ 5 แสนโดสลงพื้นที่ด้วย

“ต้องลงไปดูด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าบุคลากรสาธารณสุขพยายามควบคุมโรคอย่างเต็มที่ เราต้องไปดูว่าทำไมยังติดเชื้ออยู่เยอะ จะแก้ไขอย่างไร เราส่งไปทุกอย่างเลย ส่งวัคซีนที่เหมาะสมกับประชาชนและกำชับให้เร่งทำการฉีด อย่างน้อยวัคซีนไปถึง ประชาชนได้ฉีดแล้วยังไงก็ลด ซึ่งเหมือนกับภูมิภาคอื่น กรุงเทพฯฉีดเกิน 70% ก็ควบคุมการติดเชื้อได้ สถานการณ์ดีขึ้นเยอะ การเสียชีวิต 60 รายใหม่ ก็เกิดจากประชาชนให้ความร่วมมือ วัคซีนเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้แล้ว เราก็ต้องแก้ไขปัญหาเป็นจุดๆ ไป” นายอนุทินกล่าว

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ในขณะนี้ก็มีการประสานในแต่ละตำบลเพื่อจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ เนื่องจากพี่น้องชาวใต้ อยู่กับเป็นครอบครัวใหญ่มั่นคง ดังนั้น หากทำได้การใช้ชีวิตก็จะได้อยู่ด้วยกันในชุมชน ซึ่งก็จะเหมือนกับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการรักษาในศูนย์พักคอย (CI) หรือการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation)

Advertisement

นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้กรมการแพทย์ก็เสนอให้มีการจัดหายาโมลนูพิราเวียร์เข้ามา ซึ่งทางรัฐบาลก็พร้อมให้การสนับสนุน ส่วนการระบาดในภูมิภาคต่างๆ ที่เริ่มพบมากขึ้น ทางกระทรวงก็ได้เตรียมระบบสาธารณสุขรองรับไว้แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) จะมากกว่าชีวิตวิถีใหม่ (New normal) เพื่อการใช้ชีวิตดูแลตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือและเว้นระยะห่าง แต่ที่เพิ่มขึ้นคือให้บอกตัวเองว่าไปที่ไหนก็เสี่ยง เพื่อให้เราเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น แต่อย่างน้อยวัคซีนก็ทำให้เกิดความปลอดภัย มั่นใจได้ว่าไม่ป่วยหนัก รักษาให้หายได้

ทั้งนี้ นายอนุทินกล่าวถึงการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ว่าเรื่องนี้มีอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ที่มีอาจารย์แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญดูแลอยู่ โดยจะนำมติของอนุกรรมกรรมการฯมาปฏิบัติ แต่ยืนยันว่าวัคซีนที่นำมาฉีดให้ประชาชนมีความปลอดภัยทุกชนิด ผ่านการรองรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image