ลุ้น 14 ต.ค.เคาะผ่อนคลายเพิ่ม พบวันนี้ติดเชื้อ 10,035 ราย ขอ ปชช.ช่วยเป็นหูเป็นตา ต่างด้าวลอบเข้าเมือง

ศบค.แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ 10,035 ราย ตาย 60 ฝาก 5 จังหวัด กทม.-ลำปาง-ปทุม-กาญจน์-ระยอง ติดตามคนที่เดินทางจากพื้นที่ จ.เชียงใหม่ หวั่นเป็นคลัสเตอร์ใหม่ พร้อมขอ ปชช.ช่วยเป็นหูเป็นตาให้ จนท. กรณีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองด้วย

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 11 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า กรมควบคุมโรคได้นำเสนอรายละเอียดข้อมูลของการพิจารณาผ่อนคลายเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 14 ตุลาคมนี้ ซึ่ง 13.00 น.วันนี้ จะมีการประชุม ศบค. ชุดเล็กด้วย ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค รวมทั้งคณะที่ปรึกษา และผู้เข้าร่วมประชุม มีความเห็นไปในทิศทางที่น่าจะดี และจะเห็นการผ่อนคลายมากขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ถ้าพวกเรายังช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ให้เป็นไปในทิศทางนี้

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,035 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 9,916 ราย ติดเชื้อจากผู้เดินทางต่างประเทศ 39 ราย และติดเชื้อในเรือนจำ/ที่ต้องขังเพิ่ม 80 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,692,056 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,720,919 ราย หายป่วยเพิ่มวันนี้ 10,590 ราย หายป่วยสะสม 1,565,477 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,592,903 ราย วันนี้มีผู้เสียชีวิต 60 คน เสียชีวิตสะสม 17,657 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 รวม 17,751 คน ส่วนผู้ป่วยรักษาอยู่ 110,256 ราย แบ่งเป็น รักษาในโรงพยาบาล 41,930 ราย โรงพยาบาลสนาม 68,335 ราย อาการหนัก 2,969 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 680 ราย ขณะที่จำนวนผู้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-10 ต.ค. 64 รวม 66,228,105 โดส ใน 77 จังหวัด จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 35,093,892 ราย เข็มที่ 2 สะสม 23,400,992 ราย และเข็มที่ 3 สะสม 1,733,221 ราย

พญ.อภิสมัยแถลงต่อว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,035 ราย แบ่งเป็น ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่รวมเรือนจำ 2,122 ราย 4 จังหวัดภาคใต้ 2,185 ราย จังหวัดอื่นๆ (67 จังหวัด) 5,609 ราย และเรือนจำ/ที่ต้องขัง 80 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต 60 ราย แบ่งเป็น ชาย 32 ราย หญิง 28 ราย คนไทย 54 ราย เมียนมา 4 ราย กัมพูชาและจีนอย่างละ 1 ราย โดยกรุงเทพมหานครเสียชีวิตสูงสุด 5 ราย

“ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว หรือปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ยังคงติดจากคนในครอบครัว ที่พักอาศัย คนรู้จัก และอาชีพเสี่ยง นอกจากนี้ มีการเก็บตัวอย่างข้อมูลผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-7 ต.ค.64 พบว่า 60% เป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน อีก 20% ไม่ได้มีข้อมูลในระบบหมอพร้อม และ 19% ฉีดวคซีนเพียง 1 เข็ม และกลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบแต่ยังมีการติดเชื้อจนถึงขั้นเสียชีวิตพบน้อยกว่า 1%

Advertisement

“ดังนั้น จึงเป็นการตอกย้ำว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าฉีดวัคซีนโดยทั่วกัน เพราะขณะนี้วัคซีนมีค่อนข้างเพียงพอในแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในเดือนตุลาคมนี้ จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้เกิน 50% ของประชากรในแต่ละจังหวัด และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง นอกจากนี้ ขอเน้นย้ำหน่วยงานของภาครัฐระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชน สำหรับการฉีดวัคซีนให้นักเรียนอายุ 12-17 ปี ฉีดได้ 419,222 คน ซึ่งในสัปดาห์นี้จะเริ่มฉีดในระดับชั้น ม.1 และ ม.3 ขอให้หน่วยที่ดูแลการฉีดวัคซีนให้กลุ่มนักเรียนวางแผนในการฉัดวัคซีนทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า มีจังหวัดที่ฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุเกิน 70% อยู่ 8 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี ขณะที่ฉีดให้ประชาชนเกิน 50% ของจำนวนประชากรมี 14 จังหวัดแล้วคือ กทม. ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี อยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก เพชรบุรี ระยอง พังงา ภูเก็ต และระนอง ซึ่งการนำเสนอข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนและความครอบคลุมตรงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นชุดข้อมูลที่กรมควบคุมโรคจะนำเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ ถ้าจังหวัดไหนมีแผนเปิดพื้นที่นำร่องเศรษฐกิจจะต้องมีความครอบคลุมในการฉีดวัคซีนให้ประชากร

Advertisement

พญ.อภิสมัยแถลงอีกว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายใหม่ยังเป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคใต้หลายจังหวัด ที่อยากนำเสนอในวันนี้เป็นคลัสเตอร์ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน เช่น ที่เชียงใหม่ คือตลาดเมืองใหม่ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อที่ค้าขายอยู่ในตลาดจำนวน 91 ราย และกระจายไปเป็นคลัสเตอร์อื่น เช่น ครอบครัวของผู้ค้าขายในตลาด งานเลี้ยง หมูกระทะ โรงเรียน ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ได้ระบาดไปในหลายอำเภอและต่างจังหวัดด้วย

“ล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รายงานมาอยู่ที่ 265 ราย ทำให้ทางจังหวัดปิดตลาดเพื่อทำความสะอาด และตรวจสอบสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ติดเชื้อ 265 รายนี้ มีผู้ที่มาจากต่างจังหวัดด้วย ซึ่งกรมควบคุมโรคพยายามติดตามเพราะเกรงจะเป็นคลัสเตอร์ไปยังจังหวัดอื่นๆ และต้องเฝ้าระวัง 10 รายที่อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ กทม. ลำปาง ปทุมธานี กาญจบุรี และ ระยอง จึงต้องฝากจังหวัดติดตามคนที่เดินทางไปจากพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย

“ต้องชื่นชมผู้จัดการตลาด รวมทั้งผู้ค้า ผู้ขายที่เมื่อพบการติดเชื้อแล้วพยายามทำมาตรการ COVID Free Setting ที่จะทำให้ตลาดเมืองใหม่เป็นตลาดที่ปลอดโควิดให้ได้ โดยได้ระดมตรวจ ATK ผู้ค้า และผู้ให้บริการทั้งตลาด รวมถึงระดมฉีดวัคซีน ซึ่งเจ้าของตลาดประกาศเลยว่าต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมอย่างน้อยเข็มหนึ่งก่อนที่พ่อค้าแม่ค้าจะกลับมาเปิดค้าขายในแผงของตัวเองได้ นอกจากนี้ ยังจะมีการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ด้วย นี่คือตัวอย่างที่แม้มีการติดเชื้อก็มีการคัดแยกผู้ป่วย และกักตัว ขอให้พี่น้องชาวเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงเกิดความมั่นใจเรื่องการเปิดกิจการด้วยวิถีใหม่ วันนี้หลายๆ สถานประกอบการทำได้แล้ว และทำได้ดีมากๆด้วย ต้องขอบคุณผู้ประกอบการและผู้ค้าที่ร่วมมือ”  พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับพื้นที่ กทม.ก็มีการพูดถึงมาตรการดังกล่าวเพื่อเปิดบ้านเปิดเมือง มีโรงแรมใน กทม. อย่างโรงแรมถนนสุขุมวิททำได้ดีมากๆ เช่น ประกาศว่าพนักงานในโรงแรมฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม มีการตรวจ ATK ทุก 1 สัปดาห์ ฯลฯ ก็ต้องขอให้ผู้ใช้บริการและลูกค้าให้ความร่วมมือด้วย อาจจะทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความไม่สะดวกบ้าง แต่เมื่อเราค่อยๆ ทำไปจะเกิดเป็นความคุ้นเคย และทำให้การเปิดบ้านเปิดเมืองเป็นไปได้ ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ยังเป็นคลัสเตอร์คล้ายๆ กัน คือโรงงาน ตลาด งานศพ ร้านอาหาร ที่อาจจะทำให้แพร่ไปยังจังหวัดอื่นด้วย ซึ่งที่จังหวัดอุบลราชธานี มีคลัสเตอร์วงไพ่และธนาคารด้วย

พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้สิ่งที่ ผอ.ศปก.ศบค.เน้นย้ำวันนี้คือเรื่องของแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง โดยจากการสอบสวนพบว่าเป็นแรงงานล็อตใหม่ที่เข้ามาใหม่ เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ก็ต้องไปดูว่าเป็นจังหวัดไหน พื้นที่ไหน ผู้ประกอบการรายไหน กิจการอะไรที่พยายามทำผิดกฎหมาย

“ขอฝากไปยังทุกจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำ และขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ ส่วนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคมนี้ คงจะเป็นเรื่องการผ่อนคลายมาตรการในบางจังหวัด และหารือเกี่ยวกับเรื่องจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวระยะ 1 ที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น สมุย ที่จะเกิดในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ สธ.พิจารณา แต่เป็นมาตรการ การดูแลผู้ป่วย การจัดการผู้มีความเสี่ยงด้วย” พญ.อภิสมัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image