ตรวจแผนรับท่วมกรุง ไม่หนักเท่าปี’54

ตรวจแผนรับท่วมกรุง ไม่หนักเท่าปี’ž54

สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ณ ขณะนี้ มีการตั้งคำถามกันมากว่า ในปี 2564 นี้ เมืองหลวงอย่าง กทม. จะประสบชะตากรรมเดียวกับหลายๆ จังหวัดของประเทศหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจาก กทม. มีลักษณะคือ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยาที่รับน้ำเหนือไหลบ่าลงมาก่อนออกสู่อ่าวไทย
หากเป็นจังหวะเดียวกับช่วงที่เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ และมีน้ำทะเลหนุนสูงด้วย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะน้ำเอ่อท่วมพื้นที่ได้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ยืนยันว่า ปีนี้น้ำจะไม่ท่วม กทม. เหมือนท่วมใหญ่ปี 2554 โดย กทม.เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมไว้อย่างดี ทั้งพร่องน้ำในคลองเพื่อรองรับน้ำใหม่ สร้างธนาคารน้ำ (water bank) สร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe jacking) ขุดลอกคลอง ลอกท่อระบายน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรง และจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงเขตบางนา ความยาวประมาณ 78.93 กิโลเมตร (กม.)

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ หลังจากปี 2554 เป็นต้นมา กทม.ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาสูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับ 2.80-3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) และเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ 14 จุด รวมระยะทาง 2,512 เมตร รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 97 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

สำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต อาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานพื้นที่ ประกอบด้วย ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนและให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง

นอกจากนี้ ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะคลี่คลายตัวหลักของการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.คือ อุโมงค์ยักษ์ช่วยระบายน้ำ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5-5 เมตร กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วม เช่น ท่อระบายน้ำ คู คลอง ฯลฯ มีขีดจำกัดไม่สามารถนำน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเร็ว ทั้งนี้ อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่จะช่วยเสริมเพื่อระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง นอกจากนี้ ยังช่วยเร่งระบายน้ำหลากจากพื้นที่ภายนอกให้ระบายผ่านคลองระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่ป้องกัน แล้วไหลลงสู่อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดิน เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา สามารถช่วยให้การระบายน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมนอกพื้นที่ป้องกันของ กทม. ได้เป็นอย่างดีขณะนี้มีแล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนี้

1.โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร ระบายน้ำ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที อุโมงค์ใต้ดิน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.40 เมตร ยาว 1.88 กม. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนบนของ กทม. ริมคลองเปรมประชากรเขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตร.กม.

2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระบายน้ำ 45 ลบ.ม.ต่อวินาที ท่อระบายน้ำใต้ดินเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.60 เมตร ยาว 5.98 กม. ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ 26 ตร.กม.

3.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมพื้นที่ 50 ตร.กม. ได้แก่ ห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ยาว 5.11 กม. ระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที

4.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตร.กม. ได้แก่ ห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และ ดุสิต อุโมงค์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ยาว 6.40 กม. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์กำลังสูบ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม ยังมีอุโมงค์ระบายน้ำอีก 6 แห่ง ที่ กทม.มีแผนดำเนินการก่อสร้าง ความยาวรวม 39.625 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 238 ลบ.ม.ต่อวินาที คือ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) 4 แห่ง ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมเขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุมเขตดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และจตุจักร อยู่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569

โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 ครอบคลุมเขตบางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม และคันนายาว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567, โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตห้วยขวาง ลาดพร้าว และจตุจักร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และแล้วเสร็จในปี 2568

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) 2 แห่ง ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด ครอบคลุมเขตทวีวัฒนา หนองแขม และบางแค คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567,โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569

ไม่เพียงเท่านั้น กทม.ยังมีแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกับ จังหวัดปริมณฑลด้วย ในส่วนของความคืบหน้าการขุดลอกคูคลองจัดเก็บขยะและวัชพืชในแหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งการลอกท่อระบายน้ำ เพื่อช่วยเปิดทางน้ำไหล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ กทม. ในปีงบประมาณ 2564 กทม.ดำเนินการจัดเก็บและกำจัดผักตบชวา ในแหล่งน้ำสาธารณะ คูคลองลำรางและลำกระโดงที่ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น 1,980 คูคลอง ความยาวรวม 2,743 กิโลเมตร นอกจากนี้ ขุดลอกคูคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 132 คลอง ความยาวรวม 270,602 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 100%

เรียกได้ว่า ป้องกันเต็มสูบแบบนี้ ต่อให้เจอพายุอีกหลายลูก น้ำเหนือ น้ำหนุน ปะทะพร้อมกัน กทม.ก็มั่นใจว่า เอาอยู่Ž

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image