รมว.สุชาติ เผยเล็งช่วยกลุ่มเอสเอ็มอี รักษาจ้างงาน จ่อเปิดลงทะเบียนรับเงินช่วย 3 เดือน!

รมว.สุชาติ เผยเล็งช่วยกลุ่มเอสเอ็มอี รักษาจ้างงาน จ่อเปิดลงทะเบียนรับเงินช่วย 3 เดือน!

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ถึงการเตรียมการด้านแรงงาน ทั้งการจ้างงาน และการช่วยเหลือแรงงานภายหลังจากเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ว่า หลังจากนี้คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการช่วยเหลือนั้น กระทรวงแรงงานยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยล่าสุด มีแผนจะช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี
“ในประเทศไทยมีการจ้างงาน และมีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน มีผู้ประกอบการทั้งหมด 489,000 กว่ากิจการ จากการตรวจสอบพบว่าในจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ทั้งหมด อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี ประมาณ 5.6 ล้านราย เรียกได้ว่า ครึ่งหนึ่งที่อยู่ในธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งในการจะรักษาการจ้างงาน ในช่วงที่จะเปิดประเทศ ผมได้ขอหารือกับนายกรัฐมนตรีว่า ธุรกิจขนาดเล็กที่มีลูกจ้าง 200 คนลงมา ไม่ต้องดูว่าจะเป็นธุรกิจอะไรทั้งสิ้น ช่วยเหลือเขาให้หมดหัวละ 3,000 บาท ซึ่งคิดเป็น 3,000 บาท คูณ ลูกจ้าง 200 หัว ก็จะได้ 600,000 บาท ช่วยเหลือเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 เดือน แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือแล้วนั้น จะต้องรักษาการจ้างงานร้อยละ 95 หมายความว่า หากมีพนักงาน 100 ราย ห้ามเลิกจ้างเกิน 5 ราย แต่ถ้าจ้างเกินเราก็จ่ายให้อีก เป็นต้น” นายสุชาติ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับการจ้างงานนั้น จะต้องมีเงื่อนไขว่าจ้างคนไทยเท่านั้น ซึ่งมาตรการนี้หากได้รับความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว คาดว่าจะให้ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ โดยไทม์ไลน์ที่ได้วางไว้คือ จะเริ่มจ่ายเงินให้นายจ้าง/สถานประกอบการในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม 2565

นายสุชาติ กล่าวว่า ในส่วนแรงงานต่างด้าวนั้น ขณะนี้มีการสำรวจพบว่า บางประเภทงานที่คนไทยไม่ทำ และนายจ้าง/สถานประกอบการจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งพบว่ามีความต้องการอีกประมาณ 4.2 แสนคน ดังนั้น จึงมีแผนนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามเอ็มโอยู โดยการนำเข้าตามเอ็มโอยูครั้งนี้ จะให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ทำเรื่องแจ้งความต้องการไปที่อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) โดยตรงเพื่อขออนุมัติจำนวนเท่านั้น

“นอกจากนี้ ในช่วงปี 2563 ที่ได้เกิดโรคระบาดโควิด-19 ก็ไม่ได้มีการนำเข้าเอ็มโอยู เนื่องจากกลัวเกิดการนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาแพร่ระบาด ดังนั้น แรงงานที่อยู่ในประเทศไทยช่วงที่เกิดโควิด-19 ก็ได้มีการเดินทางกลับบ้าน และกลับเข้ามาอีกครั้งจนเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่ จ.สมุทรสาคร ทางกระทรวงแรงงานเลยจัดให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวในขณะนั้น เมื่อทำการขึ้นทะเบียนไปได้ 4-5 แสนราย ในวันนี้พบว่ายังมีแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายอยู่ในสถานประกอบการ จึงได้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำแรงงานที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ขึ้นทะเบียนให้ถูกกฏหมายทั้งหมด

Advertisement

แต่วิธีการนั้น จะใช้วิธีการสุ่มตรวจ หากเจอสถานประกอบการใดที่ไม่ได้นำลูกจ้างมาขึ้นทะเบียน จะให้ทำการขึ้นทะเบียน ณ ขณะนั้นเลย และถึงจะปล่อยให้ดำเนินกิจการต่อไป โดยแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนใหม่จะให้เข้าระบบประกันสังคม เพื่อได้สิทธิในการรักษาพยาบาล แต่ในระหว่าง 3 เดือน ที่รอให้เกิดสิทธินั้น นายจ้างจะต้องซื้อประกันสุขภาพให้แก่ลูกจ้างนั้นๆ ด้วย เพื่อหากเจ็บป่วย หรือเกิดอุบัติจะได้มีค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาใหม่ นายจ้างจะต้องรับผิดชอบค่าตรวจโควิด-19 จำนวน 3 ครั้ง ค่ากักตัว และค่าขึ้นทะเบียนแรงงาน ด้วย ส่วนรัฐบาลจะจัดหาวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้ทุกคน” นายสุชาติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image