สกู๊ปหน้า 1 : ไขข้อสงสัย หนาวปีนี้ยะเยือกนาน?

สกู๊ปหน้า 1 : ไขข้อสงสัย หนาวปีนี้ยะเยือกนาน?

คาดว่าฤดูฝนน่าจะอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายในสัปดาห์นี้ ก่อนจะย่างเข้าสู่หน้าหนาว

ก่อนหน้านี้ นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่ากรมอุตุนิยมวิทยาเตรียมประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ เบื้องต้นประเมินว่าฤดูหนาวปีนี้อุณหภูมิจะลดลงใกล้เคียงกับปีก่อน บริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน อุณหภูมิจะเริ่มลดลง และขยายตัวไปยังภาคอื่นๆ ตามลำดับ คาดว่าพายุโซนร้อนคมปาซุจะเป็นพายุลูกส่งท้ายฤดูฝนปีนี้ จากนั้นร่องมรสุม หรือร่องความกดอากาศต่ำ จะพาดผ่านบริเวณภาคใต้ ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนบริเวณตอนบนของประเทศจะมีฝนลดลง

ช่วงพายุมีกำลังอ่อนลง วันที่ 17 ตุลาคม 2564 เริ่มมีสัญญาณมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมากขึ้น
ฝนน้อยลง อุณหภูมิจะเริ่มลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน
ส่วนแบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า สัญญาณการเข้าสู่ฤดูหนาวได้เริ่มต้นอย่างเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม เนื่องจากต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภาคเหนือของประเทศไทยมีแนวโน้มฝน
ลดลงอย่างชัดเจนรวมถึงเห็นสัญญาณความกดอากาศสูงเริ่มแผ่ลงมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นชัดมากขึ้นเมื่อพายุโซนร้อนไลออนร็อกและพายุคมปาซุ เคลื่อนตัวเข้ามานั้นได้อ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว เพราะมีบริเวณความกดอากาศสูง หรืออากาศหนาวรออยู่บริเวณนี้แล้ว ขณะที่พายุทั้ง 2 ลูกนี้เคลื่อนตัวเข้าไปในประเทศเวียดนามนั้นได้เหวี่ยงเอาความกดอากาศสูงแทงลงมาเป็นลิ่มเข้าสู่ทิศเหนือตอนบนเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้พายุยิ่งอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว
แต่ขณะเดียวกันฝนที่น้อยลงไปนั้นไม่ค่อยเป็นผลดีกับภาคเหนือตอนบน เพราะน้ำในภาคเหนือตอนบน ทั้งในเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ยังมีอยู่น้อยมาก

Advertisement

จากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกน้อยกว่าปกติ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เดือนสิงหาคมของทุกปี พบว่า ปีนี้ไม่มีมรสุมพาดผ่านบริเวณนี้เลย ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนบนกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเคยมีฝนตกมากทุกปีของช่วงเวลานี้ แต่ปีนี้มีฝนตกน้อยมาก

ขณะนี้เขื่อนใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนสำคัญใน จ.เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแม่กวงเขื่อนแม่งัด ยังคงมีน้ำไม่ถึงครึ่งของความจุ แม้กระทั่งเขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา ก็มีน้ำแค่ 60-70% เท่านั้น แม้แต่เขื่อนที่ตั้งในพื้นที่ จ.น่าน ก็มีน้ำน้อยเช่นเดียวกัน เป็นสัญญาณว่าหากฤดูหนาวมาถึงหลังจากหมดพายุสัปดาห์นี้แล้วก็ยากที่จะมีฝนเพื่อให้เติมน้ำในเขื่อนด้วยเช่นเดียวกัน

ประมวลได้ว่า ปีนี้จะเกิดความหนาวยาวนานกว่าที่ผ่านมาได้
แต่ในสถานการณ์ของอากาศหนาวเป็นอากาศแห้ง อากาศในรูปแบบดังกล่าวจะทำให้อัตราการระเหยของน้ำในแหล่งน้ำยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ก็จะกลายเป็นว่า ฤดูหนาว ปีนี้จะยิ่งซ้ำเติม พื้นที่ภาคเหนือตอนบนกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่มีน้ำในเขื่อนน้อยอยู่แล้วก็จะยิ่งน้อยมากยิ่งขึ้น

Advertisement

แบบจำลองวาฟ-รอม ระบุว่า เมื่อวิเคราะห์ไปถึงอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกมีค่า ONI หรือค่า ENSO (การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิก) หรือการเข้าสู่ภาวะความเป็นลานิญาอ่อนๆ รวมทั้งค่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือก็มีค่าเป็นลบ น่าจะเป็นสัญญาณว่าความกดอากาศสูงที่จะแผ่ลงมายังประเทศไทยตอนบนปีนี้น่าจะมีกำลังสูงและแผ่ลงมาอย่างต่อเนื่อง
แบบจำลองสภาพอากาศ หรือวาฟ-รอมคาดว่าปีนี้ประเทศไทยตอนบนน่าจะได้รับอากาศหนาวต่อเนื่องมากกว่าปีก่อนๆ
แต่หากความกดอากาศสูง หรือลมหนาวมาแรงในทุกครั้งพื้นที่ภาคใต้ก็จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าปกติในเดือนพฤศจิกายน ดังนั้น ประเทศไทยตอนบนหนาว ก็จะต้องเฝ้าระวังอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงปลายปี
ด้วยเช่นเดียวกัน

นั่นหมายถึงอาจเกิดภาวะหนาวหนักและนาน ส่วนภาคใต้ก็อาจจะเจอฝนหนัก เป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image