น้ำเหนือผ่านเจ้าพระยา 2,827 ลบ.ม./วินาที กทม.เฝ้าระวังต่อเนื่อง

น้ำเหนือผ่านเจ้าพระยา 2,827 ลบ.ม./วินาที กทม.เฝ้าระวังต่อเนื่อง

วันนี้ (18 ต.ค. 64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำเหนือไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ว่า วันนี้ (06.00 น.) ปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่ อ.บางไทร ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่าน กทม. เฉลี่ย 2,827 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ระดับ 1.80 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของ กทม.อยู่ประมาณ 1.20 เมตร จึงยังไม่ได้ผลกระทบจากน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนเจ้าพระยาและจากน้ำขึ้นเต็มที่แต่อย่างใด

สำหรับระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออก ณ ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) อยู่ในระดับปกติ +1.21 (ระดับวิกฤต +1.80) ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) อยู่ในระดับปกติ +0.73 (ระดับวิกฤต +0.90) ประตูระบายน้ำลาดกระบัง อยู่ในระดับปกติ +0.50 (ระดับวิกฤต+0.60) โดยวันนี้ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 18.07 น. ที่ระดับ +1.18 ม.รทก.

Advertisement

ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (07.00 น.) พื้นที่กรุงเทพฯฝนตกเล็กน้อย-ปานกลาง ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่จุดวัด คลองทวี-คลองภาษี เขตหนองแขม 72.0 มม. จุดวัดสำนักงานเขตบางบอน 67.5 มม. จุดวัดคลองราชมนตรี เขตบางขุนเทียน 56.0 มม. จุดวัด ส.คลองบางจาก เขตบางแค 56.0 มม. จุดวัดสำนักงานเขตทวีวัฒนา 45.5 มม. ไม่มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ https://dds.bangkok.go.th/ ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณีที่วันนี้บริเวณเขื่อนพระราม 6 ได้มีการชักธงแดงขึ้นเพื่อเตือนระดับน้ำ ว่า ได้มีการแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่นอกเขตคันกั้นให้ยกของขึ้นที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนได้ทำตามคำแนะนำกันหมดแล้ว

“แต่ในส่วนของกรุงเทพฯ ที่อยู่ในเขื่อน กทม.ยืนยันว่าควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะว่าพนังเขื่อนของเราซึ่งเมื่อก่อนมี 2-2.50 เมตร แต่ในขณะนี้สูงขึ้นเป็น 3 เมตรขึ้นไป ซึ่งระดับน้ำมีอยู่สูงสุดคือ 2.40 เมตร บริเวณจุดที่เป็นคอขวดที่สะพานพุทธ โดยผมจะทำการติดตามทุกวัน อย่างเมื่อคืน ก็ 1.80 เมตร ยังเหลือรับได้อีก 1.20 เมตร ซึ่งผมยืนยันได้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวถึงการพัฒนาระบบระบายน้ำ และเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำของ กทม. ว่า ปัจจุบันมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 243 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 329 แห่ง จากการพัฒนาระบบดังกล่าวส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากสถิติเวลาของการเกิดปัญหาน้ำท่วม เวลาการแก้ไข ความถี่ของการเกิดปัญหา รวมถึงจุดอ่อนน้ำท่วมที่ลดลงในทุกปี ตลอดจนในบางพื้นที่สามารถรองรับปริมาณฝนได้มากกว่าเมื่อก่อนที่ยังไม่พัฒนาระบบอย่างเช่นปัจจุบัน

“นอกจากนี้ กทม.ยังได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นระบบการควบคุมเครื่องสูบน้ำระยะไกล ระบบ SCADA ระบบเรดาร์ตรวจจับกลุ่มฝน รวมถึงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์เพิ่มเติมตามสถานีสูบน้ำที่สำคัญ รองรับสถานการณ์ไฟฟ้าดับ เพื่อที่จะเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่องและไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม ส่วนระบบระบายน้ำขนาดใหญ่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบอุโมงค์ระบายน้ำ เพื่อลดระยะเวลาการระบายน้ำในคลองสายหลักที่อยู่พื้นที่ชั้นในออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยตรง ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันมีแผนที่จะพัฒนาก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก จำนวน 6 แห่ง โดยเป็นฝั่งพระนคร 4 แห่ง และฝั่งธนบุรี 2 แห่ง รวมถึงได้มีการพัฒนาแก้มลิงใต้ดินซึ่งเหมาะสมกับความเป็นเมืองหนาแน่นของกรุงเทพฯ โดยในระยะแรกได้เร่งดำเนินการในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม จำนวน 4 แห่ง ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แห่ง คือ บริเวณวงเวียนบางเขนและบริเวณปากซอยสุทธิพร 2 และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 แห่ง คือบริเวณสวนสาธารณะถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต ความจุ 10,000 ลบ.ม. และบริเวณแยกถนนศรีนครินทร์ตัดกับถนนกรุงเทพกรีฑา ความจุ 10,000 ลบ.ม. ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

อีกทั้ง ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ยังมีแผนที่จะดำเนินการในอีกหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กทม.ยังได้มีการประสานความร่วมมือ และการประชุมร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้านครหลวง กรมทางหลวง รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดปริมณฑล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image