ตีพิมพ์ “ชมพูราชสิริน” เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก เกียรติประวัติไทย แต่ใกล้สูญพันธุ์

ตีพิมพ์ “ชมพูราชสิริน” เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก พรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พรรณไม้เกียรติประวัติไทย ใกล้สูญพันธุ์

วันที่ 19 ตุลาคม เฟชบุ๊กประชาสัมพันธ์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้โพสต์ เรื่อง การรับรองตีพิมพ์ให้ ชมพูราชสิริน เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก โดยระบุว่า ชมพูราชสิริได้รับการตีพิมพ์เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกลงในวารสาร Thai forest bulletin (Botany) เล่มที่ 49(2) หน้า 201 ค.ศ.2021 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับนายไพรวัลย์ ศรีสม นักวิจัยอิสระ และนักพฤกษศาสตร์จากกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 2 ท่าน คือ ดร.สมราน สุดดี และนายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง

พรรณไม้ชนิดนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามาภิไธย “sirindhorniana” เป็นชื่อคำระบุชนิด ตัวอย่างพรรณไม้เก็บจากเขากระโจม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563

Advertisement

ชมพูราชสิริน เป็นไม้ล้มลุกอวบน้ำ ดอกแยกเพศร่วมต้น สูง 5-10 cm มี 2-5 ใบ ใบเดี่ยว รูปไข่ เรียงเวียนมีขนยาวห่างปกคลุมทั้งสองด้าน ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปหัวใจ ก้านใบยาว 1.5 – 6 cm ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียว ออกที่ซอกใบ ยาว 2.5 – 90 cm ดอกสีชมพู ผลแบบผลแห้งแตก ยาว 1 – 1.7 cm มี 3 ปีก ปีกร่างรูปสามเหลี่ยมยาว 0.4 – 1.1 cm ปีกคู่ข้างแคบ เมล็ดสีน้ำตาลรูปทรงถัง

ชมพูราชสิริน เป็นพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวของไทย ขึ้นบนเปลือกของต้นไม้ในป่าดิบเขาต่ำที่ระดับความสูง 1,050 เมตร ออกดอกและติดผลในเดือนกันยายน มีสถานภาพเป็นพรรณไม้ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image