สกู๊ปหน้า 1 : ความหวัง ‘ผู้ป่วย’ ปลูกไต ‘หมู’ สู่ ‘คน’

สกู๊ปหน้า 1 : ความหวัง ‘ผู้ป่วย’ ปลูกไต ‘หมู’ สู่ ‘คน’

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์สร้างความหวังใหม่ให้กับคนเราเสมอ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ความก้าวหน้าล่าสุด ที่ทีมวิจัยด้านการแพทย์จากสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนไตจากหมู มาปลูกถ่ายให้กับมนุษย์ โดยที่ร่างกายของคนเราไม่ปฏิเสธอวัยวะของสัตว์ต่างสายพันธุ์ในทันที ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของวงการ

ถือเป็นความสำเร็จในระดับที่อาจพลิกโฉมหน้าการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะไปโดยสิ้นเชิง และกลายเป็นความหวังใหม่โดยเฉพาะสำหรับผู้คนเป็นเรือนล้านทั่วโลกที่รอคอยการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่ต้องการในแต่ละปี

ทีมศึกษาวิจัยด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (เอ็นวายยู) สหรัฐ อเมริกา ทดลองใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง ในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสปีชีส์ ที่เรียกกันว่า การปลูกถ่ายซีโน หรือ ซีโนทรานแพลนเทชั่น (xenotransplantation) ได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา

นพ.โรเบิร์ต มอนต์โกเมอรี ศัลยแพทย์ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าทีมผ่าตัดปลูกถ่ายครั้งสำคัญดังกล่าวและเป็นหัวหน้าทีมวิจัยบุกเบิกแนวทางใหม่ในครั้งนี้ บอกว่า ความสำเร็จของการทดลองครั้งนี้ อยู่ที่ร่างกายของผู้ที่ได้รับอวัยวะไม่ปฏิเสธอวัยวะจากสัตว์ต่างสายพันธุ์ในทันทีอย่างที่ควรจะเป็นในกรณีปกติ ในเวลาเดียวกัน ไตของหมูที่ผ่าตัดปลูกถ่ายให้กับมนุษย์เป็นครั้งแรกยัง ดูเหมือนว่า
จะทำหน้าที่ของไตได้ตามปกติอีกด้วย

Advertisement

มอนต์โกเมอรีบอกว่า แนวความคิดที่จะปลูกถ่ายอวัยวะของสัตว์รวมทั้งหมู ซึ่งมีระบบการทำงานใกล้เคียงกับอวัยวะของมนุษย์อย่างยิ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาช้านาน ที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากร่างกายของคนเรา หรือแม้แต่ร่างกายของสัตว์ในตระกูลไพรเมต จะปฏิเสธอวัยวะจากหมูในทันที เนื่องจากในร่างกายของหมูมีเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ไม่ยอมรับ และจะพุ่งเป้าโจมตีทันทีที่พบอยู่ภายในร่างกายมนุษย์ เป็นที่มาที่ทำให้ร่างกายของมนุษย์จะปฏิเสธการปลูกถ่ายอวัยวะข้ามสายพันธุ์ในทันที

ทีมวิจัยของ นพ.มอนต์โกเมอรี ตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนหน้าการทดลองว่า หากสามารถใช้วิธี วิศวะพันธุกรรม ตัดยีนซึ่งเป็นตัวกำหนดให้สร้างเอนไซม์ดังกล่าวออกไปจากหมูได้ ร่างกายมนุษย์ก็จะไม่ปฏิเสธอวัยวะของหมูอีกต่อไป ยีนดังกล่าวเป็นยีนที่กำหนดให้ร่างกายหมูสร้างคาร์โบไฮเดรตขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนให้เป็น โมเลกุลของน้ำตาล หรือ ไกลแคน ที่เรียกว่า อัลฟา-แกล

แต่ทีมวิจัยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการตัดแต่งพันธุกรรมของหมูแต่อย่างใดเนื่องจากมีบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพชื่อ รีไววิคอร์ ซึ่งเป็นกิจการในเครือบริษัท ยูไนเต็ด เธราพิวติคส์ คอร์ป. ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว โดยได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากสำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐอเมริกา ให้ดำเนินการตัดแต่งพันธุกรรมหมูเลี้ยง สำหรับใช้เป็นอาหารพิเศษของบุคคลที่แพ้ไม่สามารถกินเนื้อหมูหรือเนื้อสัตว์อื่นได้ตามปกติ รวมทั้งเพื่อการรักษาโรคในคน มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 หมูที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมดังกล่าวเรียกว่า แกลเซฟ คือ ปลอดจากโมเลกุล อัลฟา-แกล นั่นเอง

Advertisement

ทีมวิจัยได้รับความเห็นชอบจากครอบครัวของผู้ป่วยสุภาพสตรีที่สมองตายรายหนึ่ง ให้ใช้ร่างกายของผู้ป่วยรายนี้ที่ยังชีพอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจเท่านั้น เพื่อการทดลองครั้งนี้เป็นพิเศษ
ทีมผ่าตัดใช้เวลา 2 ชั่วโมง เชื่อมต่อไตหมูที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม เข้ากับกลุ่มเส้นเลือดบริเวณขาข้างหนึ่ง โดยไม่ได้ผ่าตัดปลูกถ่ายไว้ในร่างกายผู้ป่วย แต่ทิ้งไว้บริเวณหน้าท้องแต่มีอุปกรณ์ป้องกันครบครัน เพื่อให้สามารถสังเกตการณ์การทำงานของไตหมูได้โดยง่าย และทิ้งไว้เพื่อดูผลลัพธ์นาน 54 ชั่วโมง ก่อนที่ทางครอบครัวจะถอดเครื่องช่วยหายใจปล่อยให้ผู้ป่วยสตรีรายนี้สิ้นใจไปอย่างสงบ แต่ผลการทดลองที่ได้ในครั้งนี้ ทรงคุณค่ามหาศาลกับมนุษยชาติในอนาคต

นพ.มอนต์โกเมอรีระบุว่า จากการสังเกต การณ์ไม่พบว่าร่างกายของผู้ป่วยที่ใช้เป็นตัวอย่างทดลองรายนี้จะแสดงออกถึงการปฏิเสธอวัยวะที่ผ่าตัดเปลี่ยนให้ใหม่แต่อย่างใด ในขณะที่ปริมาณปัสสาวะของผู้ป่วยทดลอง ซึ่งไตหมูผลิตขึ้นมาก็อยู่ในระดับที่ทีมวิจัยคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น

ที่สำคัญก็คือ เมื่อตรวจสอบระดับ ครีเอตินิน (creatinine) ในเลือดของผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติเนื่องจากอาการป่วยเรื้อรัง พบว่าหลังการผ่าตัดเปลี่ยนไตหมูให้ใหม่ ระดับของครีเอตินิน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการกรองและขจัดของเสียของไต กลับคืนสู่ระดับปกติ แสดงให้เห็นว่าการทำงานของไตกลับคืนสู่สภาพปกติ เมื่อได้รับการปลูกถ่ายไตหมูให้ใหม่นั่นเอง

นพ.มอนต์โกเมอรีระบุว่า การทดลองครั้งนี้น่าจะกลายเป็นการบุกเบิกแนวทางใหม่ในการให้ความช่วยเหลือระยะสั้น “ชั่วคราว” ต่อผู้ป่วยด้วยโรคไตวายที่อยู่ในระยะสุดท้ายได้ เพื่อต่อชีวิตให้สามารถรอจนกว่าจะมีไตมนุษย์มาปลูกถ่ายแทนที่ไตเก่าเป็นการถาวรได้

นายแพทย์ผู้นี้เชื่อว่าภายใน 1-2 ปี การใช้ไตหมูเพื่อการปลูกถ่าย ชั่วคราว ให้มนุษย์สามารถทำได้ แต่อาจจำเป็นต้องทดลองอีกไม่น้อยหากต้องการใช้เป็นการปลูกถ่ายถาวร

เครือข่ายเพื่อการแบ่งปันอวัยวะแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอ็นโอเอส) ระบุว่า ปัญหาเรื่องการรอคอยอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายในสหรัฐอเมริกาถือเป็นปัญหาใหญ่ ในแต่ละปีมีผู้รอคอยอวัยวะบริจาคเพื่อผ่าตัดปลูกถ่ายใหม่มากถึง 107,000 ราย ในจำนวนนี้กลุ่มใหญ่ที่สุด เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่รอคอยการปลูกถ่ายไต ซึ่งมีมากกว่า 90,000 คนต่อปี แต่จำนวนอวัยวะบริจาคกลับน้อยนิด ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายนปีนี้ ในสหรัฐอเมริกามีการปลูกถ่ายอวัยวะทุกอย่างได้เพียงแค่ 31,361 ราย เท่านั้น ช่วงเวลาที่รอคอยสำหรับไตแต่ละข้าง เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ระหว่าง 3-5 ปี

หมอมอนต์โกเมอรีย้ำว่า อย่างน้อยในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ก็จะไม่มีใครตายระหว่างรอคอยผ่าตัดเปลี่ยนไตอีกต่อไป

ขณะที่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวถึงความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตหมูมาใช้ทดแทนไตมนุษย์ ว่า การปลูกถ่ายไตคนด้วยการใช้ไตหมู มีความสำเร็จครั้งแรกของโลกที่สหรัฐอเมริกา นับเป็นสัญญาณที่ดีของวงการแพทย์ โดยการใช้ไตหมูมาใส่ในผู้ที่กำลังจะเสียชีวิตจากภาวะสมองตาย โดยผ่านความยินยอมจากญาติแล้ว ผลการปลูกถ่ายพบว่าสามารถใช้ได้นานถึง 3 วัน ก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มทางการแพทย์ที่ดีอย่างมาก ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองปลูกถ่ายไตหมูใส่ในไตลิงแล้วพบว่าลิงอยู่ได้นานถึง 3 ปี โดยอาจต้องใช้ยากดภูมิเข้ามาช่วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางสหรัฐเองจะทดลองต่อในปีหน้า เนื่องจากยังไม่มีใครกล้านำคนที่ปกติแข็งแรงดีมาทดลองปลูกถ่ายไตหมู ซึ่งไทยเราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

“ปกติการผ่าตัดเปลี่ยนไต หากเป็นไตคนด้วยกันเอง ก็อยู่ได้นานประมาณ 20 ปี โดยกินยากดภูมิควบคู่ด้วย หลังจากนั้นภูมิคุ้มกันก็จะเริ่มรู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย ก็จะต้องมีการเปลี่ยนไตใหม่ ดังนั้น ในเรื่องของการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ไทยเราสามารถทำได้ด้วยเทคนิคการแพทย์ของไทย นอกจากไต ก็ยังมีหัวใจ ปอด ที่เราผ่าตัดได้ปีละกว่า 1-2 พันราย ซึ่งส่วนนี้ไม่เป็นปัญหาเลย แต่ที่สำคัญของการปลูกถ่ายไตหมูคือหมูที่จะต้องนำมาใช้ ปัจจัยหลักของเรื่องคือ เราจะต้องมีหมูที่ได้รับ การตัดแต่งยีนเพื่อป้องกันการต่อต้านภูมิคุ้มกันเมื่อเข้ามาอยู่ในคน ขณะนี้มีประมาณ 3 บริษัทที่ทำเรื่องการเลี้ยงหมูอยู่ในสหรัฐอเมริกา 2 แห่ง และจีน 1 แห่ง

ทั้งนี้ การใช้อวัยะของหมูมีการศึกษาทั้งในการใช้หัวใจ ที่มีขนาดเท่าๆ กับหัวใจคน ปอดของหมูที่มี 2 ข้างเหมือนคน ก็คาดว่าจะมีการนำมาใช้ทดแทนปอดของผู้ป่วยที่เคยติดโควิด-19 แล้วปอดได้รับความเสียหาย รวมถึงจีนที่ใช้ทดแทนเลนส์ดวงตาของคนด้วย” นพ.สุรศักดิ์เผย

นพ.สุรศักดิ์เผยอีกว่า ปัจจุบันคนไทยมีภาวะไตเรื้อรังราว 2 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้รอการปลูกถ่ายไตอีกกว่า 2 หมื่นราย ขณะที่ข้อมูลผู้บริจาคอวัยวะมีเพียง 7-8 พันราย แต่เฉลี่ยแล้วมีไตพร้อมให้ปลูกถ่ายเพียงวันละ 1-2 ราย เท่านั้น ดังนั้น หากเราสามารถนำอวัยะหมูมาใช้เพื่อทดแทนอวัยวะคนได้ ก็จะเกิดเป็นแหล่งทรัพยากรที่ไม่จำกัด

อย่างไรก็ตาม การป้องกันดีกว่าการรักษา ขอให้ทุกคนห่วงใยตัวเองเรื่องการรับประทานอาหาร เรื่องการควบคุมภาวะน้ำหนักเกิน ลดการกินเค็ม อย่างการกินอาหารเราก็ลดการปรุง ให้กินจืดเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่ใช่ว่ากินเค็มวันนี้แล้วพรุ่งนี้จะเป็นโรคไตให้เห็นเลย มันจะต้องใช้เวลา กินเค็มแล้วไตก็ทำงานหนักมากขึ้น ก็สะสมเป็นภาวะไตวายในอนาคตได้ ดังนั้น การป้องกัน รักษาตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าการรักษาในภายหลังแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image