ถอย! สธ.ทบทวนเกณฑ์บรรจุ ขรก. เล็งให้สอบสัมภาษณ์ หลังถูกวิจารณ์ให้หมอจับสลากเลือก รพ.

จากกรณีที่ อาจารย์แพทย์รามาธิบดีและศิริราชพยาบาล แสดงความกังวล กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกรายละเอียดการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ในตำแหน่งนายแพทย์ปฏิบัติการ สังกัดสำนักงานปลัด สธ. รอบที่ 1 โครงการทั่วไป (จับสลาก) โดยระบุว่า ให้สิทธินักศึกษาแพทย์ทำคะแนนสอบได้ดีสุด 425 คนแรก ให้มีสิทธิจับสลากเลือกโรงพยาบาลใช้ทุน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหมาะสมหรือไม่ เป็นการเลือกหรือไม่อย่างไร แล้วผู้ที่ไม่ถูกเลือกให้จับสลากจะมีการดำเนินการอย่างไรนั้น

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ตนได้มีการประชุมหารือร่วมกับแพทยสภา โดยมีการแจ้งว่า การใช้ NL (National Licensing Examination) ซึ่งเป็นคะแนนการประเมินความรู้ขั้นแรก ไม่น่าจะเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดในการจำแนกคนว่า เก่งหรือไม่เก่ง ไม่ใช่หลักเกณฑ์คัดเลือกคนรับราชการ เพราะเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ประเมินแพทย์ว่า ผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น จึงนำมาใช้ตรงนี้ไม่ได้ ซึ่งแพทยสภาจะทำหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ ดังนั้น รายละเอียดการคัดเลือกที่ออกไปก่อนหน้านี้จึงยังไม่นำมาใช้ และจะมีการทบทวนเรื่องนี้ โดยจะมีการประชุมเรื่องนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า การคัดเลือกดังกล่าวมาจากจำนวนอัตราการบรรจุข้าราชการในส่วนของแพทย์ไม่ได้มากเท่าเดิมใช่หรือไม่ จึงต้องมีการคัดเลือกด้วยวิธีนี้ นพ.สุระ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราไม่ได้มีปัญหาการบรรจุจาก ก.พ. แต่ปีนี้ตำแหน่งน้อยลง ทำให้รับได้ไม่มาก จึงต้องมีการคัดเลือกคน ส่วนจะใช้เกณฑ์อะไร จะใช้เกรดเฉลี่ยก็ไม่ได้ เพราะจบแต่ละแห่งก็แตกต่างกัน เบื้องต้นจึงจะใช้ NL แต่เมื่อแพทยสภาทักท้วงมา เราก็รับฟัง และเบื้องต้นได้ปรึกษา ก.พ. อาจใช้วิธีการสอบ และสอบสัมภาษณ์ แต่ทั้งหมดจะต้องรอการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนายแพทย์ปฏิบัติการ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตนเป็นประธาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปสัปดาห์หน้า

เมื่อถามว่า จริงๆ แล้วแพทย์ที่จบใหม่ก่อนทำสัญญาใช้ทุน หรือจับสลากเลือก รพ.ใช้ทุน ต้องได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมก่อนหรือไม่ นพ.สุระ กล่าวว่า ใช่ นักศึกษาแพทย์จบใหม่ หากสอบได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมก็จะทำสัญญาใช้ทุน และรับเข้าปฏิบัติงานได้ ซึ่งคาดว่าใบประกอบวิชาชีพน่าจะได้กันคือ ประมาณวันที่ 2 พ.ค.2565 แต่ที่ให้ดำเนินการก่อน เพราะมองว่า ส่วนใหญ่สอบได้ แต่หากไม่ได้ก็จะมีขั้นตอนในการดำเนินการต่อไป

Advertisement

ต่อข้อถามอีกว่า จริงๆ แล้วแพทย์จบใหม่ในแต่ละปีมีประมาณ 1-2 พันคน จะสามารถบรรจุเป็นข้าราชการโดยการใช้ทุนหมดหรือไม่ เพราะเมื่อมีการจับสลาก 425 คน ทำให้สงสัยว่าคนที่เหลือจะทำอย่างไร นพ.สุระ กล่าวว่า แพทย์จบใหม่ปีนี้มีประมาณ 2,600 คน โดยในส่วน สธ.ประมาณ 1,849 คน และไปกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ประมาณ 780 คน

นพ.สุระ กล่าวอีกว่า โดยใน 1,849 คน ของ สธ.มีตำแหน่งให้น้องเลือกลงได้ 425 คน เพราะใน 1,849 คน เป็นของกรมอื่นๆ 8 คน จึงเหลือของสำนักงานปลัด สธ. 1,841 คน แบ่งเป็นโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทประมาณ 1 พันคน ซึ่งมีสัญญา 2 ชั้น สัญญาชั้นแรกทำกับมหาวิทยาลัยว่า จะใช้ทุนกับรัฐบาล และสัญญากับพื้นที่ว่าจะให้น้องจบกลับไปทำงานกับพื้นที่ ส่วนอีก 200 คนใน 1,841 คนนั้น จะเป็นกลุ่มแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่จบแล้วเรียนต่อได้เลย 3 ปี ทำงานไปเรียนไป และกลุ่มแพทย์พี่เลี้ยง 216 คน จะเหลือแพทย์ทั่วไป 425 คนที่สามารถมาสมัคร และจับสลากลงพื้นที่ได้ สรุปทุกคนมีสถานที่ปฏิบัติงานหมด ส่วนราชการรับหมด เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุขจะรับไม่ได้หมด แต่ไปกระทรวงอื่นๆ ได้ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ อว.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image