เร่ง ‘3 พืชความหวัง’ กัญชา-กัญชง-กระท่อม ปั้นรายได้ฟื้นศก.ไทย

เร่ง ‘3 พืชความหวัง’ กัญชา-กัญชง-กระท่อม ปั้นรายได้ฟื้นศก.ไทย

จากสถานการณ์โควิด ที่ระบาดต่อเนื่องมายาวนาน ทำให้ข่าวคราวเรื่องการวิจัยพัฒนา ยกระดับพืชเศรษฐกิจใหม่ดาวรุ่ง 3 ชนิด ‘กัญชา-กัญชง-กระท่อม’ เงียบหายไป

แต่เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มซา แม้จะไม่หมดไปก็ต้องปรับแนวใหม่อยู่ร่วมกับโควิดให้ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นการขับเคลื่อน ‘กัญชา-กัญชง-กระท่อม’ ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นความหวังที่จะช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งในระดับรากหญ้า ชุมชน และระดับประเทศ เพื่อมาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่เสียหายยับเยินจากพิษโควิด-19

มาอัพเอตกันว่าหน่วยงานต่างๆ จะขับเคลื่อน 3 พืชความหวังนี้อย่างไรกันต่อ

Advertisement

ในระดับนโยบาย ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่าในปีงบประมาณ 2565 จะขับเคลื่อนการพัฒนาพืชสมุนไพรทั้งกัญชา กัญชง และกระท่อม เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชน

ก่อนหน้านี้การนำ ‘กัญชา’ มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เดินหน้าไประดับหนึ่งแล้ว โดยบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ 4 ตำรับ ได้แก่ ศุขไสยาศน์ แก้ลมแก้เส้น ทำลายพระสุเมรุ และน้ำมันกัญชา ตั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั่วประเทศ 691 แห่ง มีประชาชนเข้าถึงยากัญชา 441,392 ราย มีรัฐวิสาหกิจชุมชนที่ปลูก 193 แห่ง และแหล่งปลูกแปลงใหญ่ 6 แห่ง อีกทั้งตั้งศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ (IMCRC) ตั้งเป้าให้กัญชาทางการแพทย์ของไทย ช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยว

ด้าน ‘นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์’ อธิบดีกรมการแพทย์ เสริมว่า วันที่ 10 พฤศจิกายน กรมการแพทย์จะขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ให้สอดคล้องกับนโยบายของ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไปจนถึงพัฒนาให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมหลายอย่าง โดยนำกัญชาไปใช้เพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ ซึ่งปีที่ผ่านมา มูลค่าสินค้าที่เกี่ยวข้องพุ่งสูงถึงกว่า 7 พันล้านบาท

Advertisement

“กระทรวงสาธารณสุขเร่งเดินหน้าโดยเฉพาะการให้ประเทศไทยเป็นฮับการแพทย์ และกัญชาทางการแพทย์ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติ ซึ่งไทยมีเป้าหมายว่าจะเป็นฐานการผลิตยาจากกัญชา และคุณภาพของสินค้า ต้องได้รับการยอมรับในระดับโลก ต้องเป็น World Class นอกจากนั้นยังหวังให้กัญชาทางการแพทย์ของไทย เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไปจนถึงช่วยแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน”

จะได้เห็นทิศทางนโยบายกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย ทั้งเรื่องการแพทย์ และเศรษฐกิจ มีนักวิจัยไทย และระดับนานาชาติ มานำเสนอความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อรักษาอาการป่วยประเภทต่างๆ อาทิ Dr.Mara Bilibajkich แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชาทางการแพทย์ ประเทศแคนาดา

นับตั้งแต่กระทรวงขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ เรามั่นใจว่ามาถูกทาง เป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์ ที่ผ่านมา ยอดการเข้าใช้บริการทางการแพทย์ แผนกัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในทุกวันมีการขออนุญาต นำกัญชาทางการแพทย์ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ภาพลักษณ์ของกัญชาทางการแพทย์เปลี่ยนไป คนไทยเข้าใจประโยชน์ของพืชชนิดนี้มากขึ้น ที่สำคัญคือประเทศไทย เรามีศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ (IMCRC) ที่ทําร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐและกลุ่มแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านกัญชาทางการแพทย์

“จึงถึงเวลาที่เราจะต้องแสดงศักยภาพของประเทศไทยที่พร้อมเป็นแหล่งความรู้ด้านการวิจัย การสกัด และเป็นฐานในการผลิต พัฒนายาจากกัญชาระดับโลกให้นานาชาติได้เห็นความพร้อมของไทย จะช่วยผลักดันให้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย กลายเป็นจุดดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว และนักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย” อธิบดีกรมการแพทย์พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนกัญชา

ขณะที่ ‘นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ’ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯพร้อมขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในปีงบประมาณ 2565 อาทิ สมุนไพรร่วมสู้ภัยโควิด, นโยบายการจัดการกัญชา กัญชง และกระท่อมทางการแพทย์แผนไทยเพื่อสร้างนวัตกรรมดูแลสุขภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศชาติ และยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ส่วนข้อมูลที่ยืนยันถึงการต่อยอดกัญชาและสมุนไพรอื่นๆ มีมากขึ้น นั่นคือการขอจัดตั้งธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพร

‘สินิตย์ เลิศไกร’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ธุรกิจผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร มีอัตราการเติบโตของธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดใน 9 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2564 มีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 117 ราย เพิ่มขึ้น 48 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่มี 69 ราย คิดเป็น 69.56% และในปี 2564 (9 เดือนแรก) มีทุนจดทะเบียน 305.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 จำนวน 109.74 ล้านบาท คิดเป็น 56.04%

“ประเทศไทยมีนิติบุคคลที่จดทะเบียนเป็นธุรกิจผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร 1,014 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 6,669.97 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็กมากสุด 983 รายหรือคิดเป็น 96.94% ส่วนการส่งออกเครื่องเทศและสมุนไพรไทยรอบ 8 เดือนของในปี 2564 มีมูลค่า 6,288.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มี 3,453.65 หรือเพิ่มกว่า 82.08%” รมช.พาณิชย์เสริมข้อมูล

ขณะที่ ‘สรวิศ ธานีโต’ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ก็เตรียมศึกษาที่จะนำกัญชา กัญชง และกระท่อมมาเป็นอาหารสัตว์ด้วย โดยระบุว่าเตรียมออกประกาศเกี่ยวกับอาหารสัตว์เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพืชกัญชา กัญชงและกระท่อม โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา รวมถึงสถาบันวิจัยต่างๆ ในการศึกษา วิจัยและพัฒนา เพื่อกำหนดค่ามาตรฐานที่ยอมรับให้ใช้ได้ในอาหารสัตว์

จากงานวิจัยพบว่ากัญชงมีโปรตีนสูงมากและของเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรือการนำมาแปรรูป สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าในการผลิตเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ โดยเฉพาะส่วนของกากเมล็ดกัญชงหลังบีบสกัดน้ำมันออกไปแล้ว มีคุณค่าใกล้เคียงเทียบเท่ากากถั่วชนิดต่างๆ ที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

“หากผลการทดลองหรือวิจัยเกี่ยวกับการนำกัญชา กัญชงและกระท่อม มาเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง มีความปลอดภัยและมีสรรพคุณส่งเสริมสุขภาพของสัตว์เลี้ยง กรมปศุสัตว์จะส่งเสริม สนับสนุนภาคเอกชนให้ผลิตและส่งออกทุกรูปแบบ เพื่อเข้าแข่งขันสู่ตลาดอาหารสัตว์โลกรายแรก สร้างอัตลักษณ์ของประเทศ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรต่อไปในอนาคต” อธิบดีกรมปศุสัตว์คาดหวัง

ขณะที่ ‘ศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล’ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ส.อ.ท. เผยว่า ส.อ.ท.และภาคเอกชนในภาคใต้ กำลังรวบรวมข้อข้อมูลนำเสนอ ครม.สัญจรที่ จ.กระบี่ ช่วงวันที่ 15-16 พฤศจิกายนนี้ โดยเตรียมเสนอแผนผลักดันกระท่อม ที่อยากให้รัฐสนับสนุนเป็นพืชเศรษฐกิจต่อไป เพราะกระท่อมสามารถแปรรูปในเชิงสมุนไพร แปรรูปเพื่อการบริโภค เป็นส่วนผสมในยา และผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ทั่วไป

“กัญชง กัญชา และกระท่อม ถือเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น ซึ่งภาคเกษตรถือเป็นเครื่องจักรหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ จึงอยากให้การประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้เป็นโมเดลต่อการส่งเสริมพืชเกษตรของไทย” ศักดิ์ชัยระบุ

ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมหนุนด้านการเงิน

‘สมเกียรติ กิมาวหา’ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยืนยันว่า ธ.ก.ส.มีแผนปล่อยสินเชื่อการปลูกพืชกัญชา กัญชง และกระท่อม โดยไม่ได้กำหนดวงเงิน แต่ต้องอยู่ใต้เงื่อนไข 1.ต้องเป็นเกษตรกรที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และสหกรณ์การเกษตร 2.มีหลักฐานหรือเอกสาร บันทึกความร่วมมือการผลิต กัญชง กัญชา และกระท่อม ส่งให้สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อศึกษาด้านการแพทย์ และ 3.ต้องมีใบอนุญาตในการผลิตจากองค์กรอาหารและยา (อย.)

“ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อ เพื่อปลูกกัญชาให้วิสาหกิจชุมชน 10 แห่ง วงเงินตั้งแต่ 3-10 ล้านบาทต่อแห่ง และยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอีก 157 แห่ง ที่ยื่นขอสินเชื่อ” รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.ระบุ

เป็นอีกความเคลื่อนไหวที่หลายหน่วยงานเร่งขับเคลื่อน ‘กัญชา-กัญชง-กระท่อม’ พืชความหวังใหม่ที่จะช่วยสร้างรายได้ในระดับฐานรากและภาพรวมของประเทศ เพื่อช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image