สธ.ยัน ‘วัคซีนพาสปอร์ตไทย’ ใช้ได้จริง นานาชาติยอมรับ ขอได้ทั้งแบบเล่ม-ดิจิทัล

สธ.ยัน ‘วัคซีนพาสปอร์ตไทย’ ใช้ได้จริง! นานาชาติยอมรับ ขอได้ทั้งแบบเล่ม-ดิจิทัล

กรณีที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์ นายพิศาล มาณวพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสนอต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ถึงการจัดทำวัคซีนพาสปอร์ตที่สามารถใช้ได้ในระบบ “หมอพร้อม” จริงๆ โดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. ประธานกรรมการนโยบายขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กสนับสนุนว่า สธ.ต้องทำเรื่องให้ง่ายขึ้น น่าเชื่อถือ ปลอมแปลงยาก และสะดวกกับประชาชนตามความเห็นของท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ นั้น

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า เรื่องนี้ได้มีการสื่อสารกับ ส.ว.แล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับระบบของ International Vaccination Certificate ต้องทำให้ได้มาตรฐานสากล การออกแบบจึงต้องดูจากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่าควรมีรูปแบบและตัวแปรอย่างไรบ้าง ซึ่งจะใช้ฐานข้อมูลการฉีดวัคซีน โดยทุกโรงพยาบาล (รพ.) จะส่งข้อมูลไปยังฐานข้อมูลกลาง การจะออกใบรับรองก็ต้องตรวจสอบ เนื่องจากบางครั้งผู้ฉีดวัคซีนไม่ได้ไป รพ.ที่มีความพร้อม ทำให้ลงข้อมูลบางส่วนไม่ครบ จึงต้องลงให้ครบ เช่น ล็อตนัมเบอร์ รวมทั้งเวลาการออกสมุดเล่มที่เป็นการรับรองการฉีดวัคซีน หรือวัคซีนพาสปอร์ตจำเป็นต้องมีเลขพาสปอร์ต เพราะคือการระบุตัวบุคคล แต่ขณะที่ไปฉีดวัคซีนที่ รพ.ไม่ได้มีการแจ้งเลขตรงนี้ไว้ อีกทั้งบางคนไม่ได้ทำพาสปอร์ตด้วย

“ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบ และเชื่อมโยงข้อมูลพาสปอร์ตจนออกเป็นสมุดเล่มเหลือง อีกทั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ยังได้เพิ่มในส่วนของ Digital Certificate ออกมาคู่กันกับสมุดเล่มเหลือง ซึ่งหากใครไม่มีสมุดเล่มเหลืองก็สามารถโชว์ด้วยคิวอาร์ โค้ด (QR Code) ดังกล่าว ได้รับการเชื่อมโยงกับประเทศหลักๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือ สามารถสแกนไปดูที่ฐานข้อมูลในประเทศไทย ซึ่งเป็นวิธีสากล ที่หลายๆ ประเทศก็ดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันมี 20-30 ประเทศ เป็นกลุ่มประเทศอย่างในยุโรป (อียู) เป็นต้น โดยได้มีการพิจารณาแล้วว่ามาตรฐานของไทยใช้ได้ มีการเทียบเคียงกับองค์การอนามัยโลก และเราก็มีการทำข้อตกลงกับประเทศปลายทางว่า มีเงื่อนไขการฉีดวัคซีนอะไรบ้าง” นพ.โสภณกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ปัจจุบันเราสามารถใช้วัคซีนพาสปอร์ตในรูปแบบดิจิทัลได้แล้วใช่หรือไม่ เนื่องจาก ส.ว.ยังกังวลว่าอาจใช้ไม่ได้จริง ไม่มีความเป็นสากล นพ.โสภณกล่าวว่า ปัจจุบันมีการจัดทำข้อมูลให้สามารถใช้ได้ในลักษณะสากลอย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว เพราะเดิมหากใช้แค่ใบรับรองการฉีดวัคซีน ณ จุดฉีด ข้อมูลอาจไม่ตรง เช่น ชื่อ นามสกุล ภาษาอังกฤษ เลขพาสปอร์ตไม่มี อีกทั้งยังมีจุดฉีดต่างๆ ที่เป็นการออกฉีดจาก รพ.อีก ซึ่งหากเอากระดาษใบรับรองใบนั้นไปยื่นเป็นวัคซีนพาสปอร์ต หากต่างชาติตรวจสอบอาจไม่รับรอง จึงจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบจากส่วนกลางก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน น่าเชื่อถือ โดยสามารถใช้วัคซีนพาสปอร์ตได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

Advertisement

“หากประชาชนต้องการวัคซีนพาสปอร์ตให้เข้าไปในระบบหมอพร้อม และกดไปที่ International Certificate และกดขอหนังสือรับรอง จากนั้นระบบจะส่งรีเควสไปยังเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ หากผ่านก็ใช้ได้ ซึ่งหลายคนอาจต้องการใช้แบบเป็นเล่ม เพราะบางประเทศอาจไม่มีระบบดิจิทัล จึงมีไว้เพื่ออุ่นใจ ซึ่งก็สามารถขอรับรูปแบบเล่มควบคู่กันได้ โดยหากต้องการรูปแบบเล่ม ให้ติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือ กรมควบคุมโรค หรือสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) หรือ รพ.ต่างๆ เป็นต้น” นพ.โสภณกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดให้ประชาชนติดต่อเพื่อขอรับวัคซีนพาสสปอร์ต ข้อมูลสะสมทั่วประเทศจนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 รวม 45,235 เล่ม โดยเฉลี่ย 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 1,540 เล่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image