ไม้ของกลาง สร้างพิพิธภัณฑ์ มรดกวัฒนธรรม รุ่น สู่รุ่น (ชมคลิป)

ไม้ของกลาง สร้างพิพิธภัณฑ์ มรดกวัฒนธรรม รุ่น สู่รุ่น

ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต อันจะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

การทำงานเน้นทั้งด้านอนุรักษ์ รักษา ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า พร้อมๆ ไปกับการยกระดับกระบวนทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมของสังคม

การสร้างองค์ความรู้และจิตสำนักด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถือเป็นอีกหนึ่งขึ้นตอนที่มีความสำคัญและถือเป็นต้นธารของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างแท้จริง

Advertisement

รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กรมป่าไม้ กองทัพบก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีนโยบายก่อสร้างพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เพื่อให้ประชาชนเกิดความรัก หวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ และเกิดจิตสำนึกร่วมกันในการพิทักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งใช้เป็นอาคารรับรองแขกของรัฐบาลเพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ทางศิลปะของประเทศไทยด้วย

Advertisement

พิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน สร้างในพื้นที่เขตวังทองหลางซึ่งกองทัพบกได้รับพระราชทานที่ดินจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกแบบโดยกรมศิลปากร มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์

อาคารจัดวางเป็นลักษณะ 3 มุขจั่ว คือ มีมุขตรงกลาง มุขด้านซ้าย และด้านขวา ภายนอกอาคาร ผนังบุด้วยหินอ่อน และมีจั่ว รวยระกา ลวดลายปูนปั้น ทาสี พระปรมาภิไธย โลหะหล่อปิดทอง เป็นองค์ประกอบ

มีความสูง 2 ชั้น โดย ชั้นแรกประกอบด้วย ส่วนพิพิธภัณฑ์, ห้องรับรอง และสํานักงาน ชั้นสองประกอบด้วย ส่วนจัดแสดง, ส่วนรับรอง และห้องประชุม

ภายในตกแต่งเล่าเรื่องราววรรณคดี คติความเชื่อ ความรู้ในอดีต การเมือง การปกครอง เรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติไทย

ไม้ที่ใช้ก่อสร้างเป็นไม้มีค่า 6 ชนิด ได้แก่ ไม้พะยูง ไม้ชิงชัน ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้มะค่าโมง และไม้สัก ซึ่งเป็นไม้มีค่าที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองป่าเมืองไทยมาช้านาน ทั้งหมดเป็นไม้ของกลางที่เจ้าหน้าที่สามารถยึดได้

โดยไม้ของกลางล็อตที่ใหญ่ที่สุด คือ คดีไม้สาละวิน เป็นไม้สักทั้งหมด อยู่ในจ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ติดกับประเทศเมียนมา มีการยึดจับกุมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จนขณะนี้คดีถึงที่สุดแล้ว

สำหรับความคืบหน้าในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์องค์ความรู้เรื่องไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินขณะนี้ส่วนอุตสาหกรรมไม้วังน้อย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ระหว่างการรับมอบไม้และแปรรูปไม้ของกลางที่สิ้นสุดคดีความ

ทั้งนี้ การแปรรูปไม้มีค่าของกลางจากคดีต่างๆ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558-2564 และจากการตรวจติดตามการแปรรูปไม้มีค่าของกลาง พบว่าไม้ทั้งหมดที่เข้ามามีความสมบูรณ์ประมาณร้อยละ 50 และเมื่อทำการแปรรูปแล้วจะได้ผลผลิตเป็นไม้แปรรูปประมาณร้อยละ 20

ที่เหลือจะกลายเป็นเศษไม้ ปีกไม้ เศษหัวไม้ตัด และขี้เลื่อยขี้กบ ซึ่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จะดำเนินการเก็บรักษาส่วนต่างๆของไม้ไว้ทั้ง 100% เพื่อนำมามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

แม้การเปลี่ยนแปลงทางความคิดต้องใช้เวลานาน แต่ผลสำเร็จจากโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทย ทั้งประติมากรรม จิตรกรรม งานฝีมือต่างๆ ของช่างไทย ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งจะช่วยหว่านเมล็ดพันธุ์ทางความคิด อันจะช่วยให้คนรุ่นใหม่รับช่วงต่อของประเทศได้อย่างเข้มแข็ง และจะช่วยให้ประเทศไทยมีการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image