เดลต้ายังคลุมทั่วไทย กรมวิทยาศาสตร์ฯ -ม.อ. ผุดศูนย์ตรวจสายพันธุ์โควิด

เดลต้ายังคลุมทั่วไทย กรมวิทยาศาสตร์ฯ -ม.อ. ผุดศูนย์ตรวจสายพันธุ์โควิด

วันนี้ (1 ธันวาคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ ผศ.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ทางวิชาการ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ Center for Emerging SARS-CoV-2 Lineage Investigation in Southern Thailand (CESLIST)
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ และ ม.อ.จะมีการจัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อตรวจวิเคราะห์ และรับตัวอย่างจากโรงพยาบาล (รพ.) ในเขตภาคใต้ ด้วยชุดตรวจมาตรฐานเดียวกับศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้เพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์วิจัยสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในภาคใต้ สนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ รวมถึงศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีน และระบบภูมิคุ้มกัน การวิจัย การตอบสนองของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สัมพันธ์กับสาเหตุทางพันธุกรรมร่วมกัน

นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ เครือข่ายห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 – วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 43,918 ราย เป็นสายพันธุ์เดลต้า 28,705 ราย สายพันธุ์แอลฟา 14,523 ราย และสายพันธุ์เบต้า 690 ราย โดยในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงการเปิดประเทศ ข้อมูลจากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ จำนวน 1,955 ราย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลต้า

“ในส่วนการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ จำนวน 479 ราย พบว่า เป็นสายพันธุ์เดลต้า 478 ราย สายพันธุ์แอลฟา 1 ราย ซึ่งการจัดทำความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยทำให้การวิเคราะห์วิจัยสายพันธุ์ในภาคใต้ มีความรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า สำหรับประเด็นที่มีการพบโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ B.1.1.529 ที่องค์การอนามัยโลกให้ชื่อว่า โอไมครอน (Omicron) จากระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ทางห้องแล็บ กรมวิทยาศาสตร์ฯ และเครือข่ายที่ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวและรายงานในระบบ GISAID ขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย แต่ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

Advertisement

ด้าน ผศ.นิวัติ กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์ วิจัยสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมา นักวิจัยของ ม.อ. ได้ดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสตลอดจีโนม ค้นหาสายพันธุ์ที่กำลังระบาดโดยการรับตัวอย่างบางส่วนจาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ และเขตสุขภาพที่ 12 โดยได้ดำเนินการตรวจสายพันธุ์เบื้องต้น ด้วยเทคนิค whole genome study เพื่อรายงานผลให้แก่กรมวิทยาศาสตร์ฯ และอัพโหลดข้อมูลสู่ระบบกลางระดับสากล รวมทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูลจีโนมเชื้อไวรัสเพื่อการศึกษาและวิจัยในอนาคต

“สำหรับความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้การวิเคราะห์ วิจัยสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในภาคใต้แล้ว ยังเป็นการพัฒนาบุคลากรและนักวิจัยของ ม.อ. ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกรมวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานเชี่ยวชาญของประเทศ ทำให้มีความพร้อมในการรับมือกับกับสถานการณ์การระบาดมากขึ้น” ผศ.นิวัติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ในภาคใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบโควิดสายพันธุ์น่าห่วงกังวล (VOCs) ถึง 3 จาก 5 สายพันธุ์ ศ.สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.อ. กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ พบว่าส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์เดลต้า หรือเดลต้าสายพันธุ์ย่อย ที่มีการกลายพันธุ์เล็กๆ น้อยๆ ไม่มีส่งผลต่อการการแพร่ได้เร็วขึ้นหรือรุนแรงขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image