กลุ่มคนกลางคืน นักร้อง นักดนตรี เฮ! ‘บิ๊กตู่’ สั่งเยียวยา 5,000 ม.33 รับ 2 ต่อ

กลุ่มคนกลางคืน นักร้อง นักดนตรี เฮ! ‘บิ๊กตู่’ สั่งเยียวยา 5,000 ม.33 รับ 2 ต่อ

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมร่วมกับ น.ส.สุนทราลักษณ์ เพ็ชรกูล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และผู้แทนกลุ่มคนกลางคืน นำโดย นายธเนส สุขวัฒน์ ตัวแทนนักดนตรี ผู้จัดงานคอนเสิร์ต นายวรพจน์ นิ่มวิจิตร ตัวแทนผู้จัดงานคอนเสิร์ต อีเว้นท์ จากสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย หารือแนวทางการเยียวยานักร้อง นักดนตรี นักแสดง และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม

นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 นายจ้าง ให้ลงทะเบียนโครงการเอสเอ็มอี (โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน) ต่ออีก 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างกลุ่มนี้ 3 เดือน โดยไม่มีภาษี กลุ่มที่ 2 ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย ร้อยละ 50 และจ่ายอีก 5,000 บาท จากรัฐบาล (ม.33 เรารักกัน) กลุ่มที่ 3 ลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล โดยใช้เงินกู้จากรัฐบาล แต่ต้องให้สมาคม/สมาพันธ์รับรอง ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบตัวเลขในระบบพบว่า ทั้งประเทศคาดว่าอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1.5-2 แสนราย ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินกู้จากรัฐบาลเยียวยาประมาณ 750-1,000 ล้านบาท ส่วนผู้ที่เกินอายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่เข้าข่ายมาตรา 40 ประกันสังคม จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สำรวจตัวเลขและเป็นผู้ดูแลเยียวยาต่อไป

Advertisement

“นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนทำงานทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มนักร้อง นักดนตรี และอาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงแรงงาน จะเร่งดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้างกลุ่มเหล่านี้ให้ได้รับการช่วยเหลือทุกคน ทุกกลุ่มอย่างเร่งด่วน ตามนโยบายรัฐบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายสุชาติ กล่าวและว่า โดยจะเร่งเยียวยาภายในเดือนนี้ และแผนการเยียวยาจะให้ 1 เดือน ก่อน เนื่องจากคาดว่าในวันที่ 16 มกราคม 2565 ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาจจะสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ร้านผับ บาร์ คาราโอเกะ ซึ่งเปิดดำเนินกิจการ และเป็นผู้เสียภาษี แต่ปัจจุบันขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ และทางร้านอาหารกลับเปิดให้นั่งรับประทานได้ถึงเวลา 23.00 น. กรณีนี้ทางสถานประกอบการสามารถปรับรูปแบบกิจการได้หรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า ได้แน่นอน ในส่วนนี้นายกฯ ได้ให้นโยบายกับทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ไปแล้วว่า ให้คุยกับทางผู้ประกอบการผับ บาร์ต่างๆ ว่าสามารถปรับเป็นร้านอาหารได้หรือไม่ ปรับเปลี่ยนสู่ยุคสมัยที่เราต้องเข้าเกณฑ์ได้ไหม เปิดอย่างมีเงื่อนไข

“ต้องยอมรับว่า ทุกคนเสียภาษีหมด แต่เราอย่าลืมว่าตอนเกิดโรคระบาด เม็ดเงินที่เราใช้ ทั้งเงินกู้ งบกลางต่างๆ ก็มาจากพี่น้องทุกอาชีพ ที่ต้องใช้หนี้เงินกู้ด้วยกันหมด อันนี้ถ้าเราเปิดผับ บาร์ ในวันนี้ ผมถามว่า ขณะที่เรากำลังเปิดประเทศอยู่ ที่กำลังไปได้ดี ถ้ามันเกิดเป็นคลัสเตอร์ขึ้นมา มันก็ถอยไปอีก กลับมาเริ่มต้นใหม่ ผมคิดว่าตอนนี้ถ้าอะไรเปิดไม่ได้ ก็ช่วยเหลือประคับประคองไปก่อน” นายสุชาติ กล่าว

Advertisement

ทางด้าน นายธเนส กล่าวว่า ขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอย่างมาก ที่ช่วยให้ความเดือดร้อนของพี่น้องนักดนตรีบรรเทาเบาบางลง โดยภายในเดือนนี้ จะได้รับการเยียวยาอย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า กรณีที่ผ่านพ้นไปถึงวันที่ 16 มกราคม แล้วเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น มีแผนในการรับมืออย่างไร นายธเนส กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เราต้องช่วยภาครัฐด้วย ไม่ใช่ว่าเปิดแล้วไม่รับผิดชอบ ขอให้ทุกภาคส่วนของสถานบริการทำตัวเองให้ได้มาตรฐานทั้งหมด หรือแม้แต่การเข้าไปขอมาตรฐาน เช่น SHA ต้องดูแลตัวเอง แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ขอให้ปิดไป เพราะมันจะทำให้คนอื่นๆ ที่เขาเป็นเด็กดีนั้น เสียไปหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีการท้วงติงในส่วนของประเด็นเม็ดเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ที่จะนำมาใช้ในการเยียวยานั้น ท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็นภาระในการจัดสรรงบประมาณหรือไม่ เนื่องจากผลการสำรวจประชากร อาจใช้งบเพียง 750 ล้านบาท แต่ได้มีการเผื่อจำนวนประชากรไปถึง 2 แสนราย ทำให้งบประมาณอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image