อนุทิน นำผู้บริหารสธ. ประกาศต้านทุจริต มอบโล่ 9 รพ.ดีเด่นให้บริการรักษาโรค

อนุทิน นำผู้บริหารสธ. ประกาศต้านทุจริต มอบโล่ 9 รพ.ดีเด่นให้บริการรักษาโรค

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 12/2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารระดับสูง ร่วมประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต ภายใต้นโยบาย “กระทรวงสาธารณสุขใสสะอาด ร่วมต้านทุจริต (MOPH Together Against Corruption)” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จากสำนักงาน ป.ป.ช. ระดับ AA (95-100 คะแนน) จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญมุ่งมั่นกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตและการประพฤติมิชอบ กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตให้เกิดขึ้นในประเทศ สร้างความสุขให้เกิดกับประชาชน ควบคู่การสร้างค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตและน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สธ.กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการบริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ จึงกำหนดหัวข้อหลักของการประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต คือ “กระทรวงสาธารณสุขใสสะอาด ร่วมต้านทุจริต (MOPH Together Against Corruption)” เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายมุ่งเน้นดังกล่าว

“สธ.ขอประกาศเจตนารมณ์ว่า จะยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะเป็นคนดีมีคุณธรรม ประพฤติปฏิบัติตนในสัมมาอาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นหลักสำคัญมั่นคง ดำรงตนอยู่ด้วยความมีเกียรติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่กระทำการโกงแผ่นดิน ไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ และไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์บนความทุกข์ยากของประชาชน ทั้งจะปฏิบัติตนตามมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจรรยาบรรณกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สธ.กำหนดทิศทางการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ใช้มาตรการ “3 ป. 1 ค.” คือ ปลูกและปลุกจิตสำนึก ป้องกัน ปราบปราม และเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ สร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน บริหารงานโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรสามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ตามหลัก “STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต” ตลอดจนกำหนดแนวทางปฏิบัติให้บุคลากรทุกระดับไม่รับของขวัญหรือประโยชน์อื่นใดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)

ในเวลาเดียวกัน นายอนุทิน กล่าวในฐานะประธานมอบโล่รางวัล NCD Clinic Plus Award แก่ 9 โรงพยาบาล ที่มีผลงานการพัฒนาคุณภาพบริการคลินิกโรคไม่ติดต่อดีเด่นระดับประเทศปี 2564 ว่า สธ.ตระหนักและให้ความสำคัญกับโรคไม่ติดต่อ ที่เป็นปัญหาสุขภาพลำดับต้นของประเทศ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พบว่า มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 14 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของคนไทย ซึ่ง 48.8% ไม่ทราบว่าตนเองป่วย ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานมี 5 ล้านคน โดย 30.6% ไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวานมาก่อน และมีผู้ป่วยเพียง 26.3% ที่สามารถควบคุมสภาวะของโรคได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยโรค NCD ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงและเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ด้วย

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวว่า การประเมิน คุณภาพบริการคลินิกโรคไม่ติดต่อ ประกอบด้วยทิศทางและนโยบาย ระบบสารสนเทศ การปรับระบบ กระบวนการบริการ ระบบสนับสนุนการจัดการตนเอง ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ การจัดบริการเชื่อมโยงเครือข่ายสุขภาพชุมชนในการดูแลกลุ่มเสี่ยง จะช่วยพัฒนาคุณภาพบริการในสถานพยาบาลในการจัดการโรคไม่ติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตนขอแสดงความยินดีกับทุก รพ.ที่ได้รับโล่รางวัล ถือเป็นขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน และเป็นต้นแบบให้กับ รพ.อื่นๆ นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และเป็นกำลังใจให้กับ รพ.ทุกแห่ง แม้จะไม่ได้รางวัล จงมุ่งมั่นพัฒนางานเพื่อประชาชนคนไทยต่อไป

ทั้งนี้ ในปี 2564 มี รพ.ที่เข้าร่วมการประเมินคุณภาพ NCD Clinic Plus Award จำนวน 986 แห่ง ผ่านเกณฑ์ประเมิน 597 แห่ง และผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนเขตสุขภาพเข้ารับการคัดเลือกผลงานดีเด่นระดับประเทศ 36 แห่ง โดยรางวัล แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. โรงพยาบาลขนาดใหญ่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์, รองชนะเลิศอันดับ 1 รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จ.ตาก และรองชนะเลิศอันดับ 2 รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช 2. โรงพยาบาลขนาดกลาง ชนะเลิศ ได้แก่ รพ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ รองชนะเลิศอันดับ 1 รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ และรองชนะเลิศอันดับ 2 รพ.ท่าแซะ จ.ชุมพร และ 3. โรงพยาบาลขนาดเล็ก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ รพ.แสวงหา จ.อ่างทอง, รองชนะเลิศอันดับ 1 รพ.ละแม จ.ชุมพร และรองชนะเลิศอันดับ 2 รพ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image