จับตา ‘กัญชาเสรี’ ติดล็อกปลูกใช้เอง รอเคลียร์ปมกฎหมาย

จับตา ‘กัญชาเสรี’ ติดล็อกปลูกใช้เอง รอเคลียร์ปมกฎหมาย

“กัญชาเสรีทางการแพทย์” ที่เป็น “ความหวัง” ของผู้ป่วยที่จะใช้เพื่อรักษาโรคให้บรรเทา โดยสามารถปลูกกัญชาเพื่อดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง ตามกฎหมาย ไม่ต้องคอยหลบซ่อนจากการปราบปรามยาเสพติด

ล่าสุด อาจจะต้องชะงักอีกครั้ง หลังพบว่ามีผู้ปลูกกัญชาถูกตำรวจจับกุม แม้ว่าจะเป็นการปลูกเพียงไม่กี่ต้นหลังบ้าน และวัตถุประสงค์ของการปลูกยังเป็น “เพื่อรักษาตัวเอง” จึงเกิดข้อถกเถียงในกรณีดังกล่าวว่า ผู้ป่วยตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์จะปลูกกัญชาด้วยตนเองโดยไม่ต้องขออนุญาต สามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ “พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564” โดยประมวลกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 วันนั้น “นายวิชัย ไชยมงคล” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม
ยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่า ตามเจตนารมณ์รัฐบาลที่ต้องการปรับการใช้กฎหมาย ยาเสพติดให้ทันสมัยมากขึ้น จัดการให้เกิดระบบมากขึ้น ประมวลกฎหมายฉบับนี้จึงรวบรวมกฎหมายยาเสพติดที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายความรับผิดชอบของแต่ละ หน่วยงานเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ไม่ซ้ำซ้อนและง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน

หากดูตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 จะพบว่า ตามภาค 1 ลักษณะที่ 3 การควบคุมยาเสพติด หมวด 3 ประเภทของยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ระบุว่า มาตรา 29 ได้แบ่งยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท ซึ่งในข้อที่กำหนดยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จากเดิมเคยระบุชื่อกัญชา ไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับก่อนๆ

Advertisement

ไม่มีชื่อกัญชาในประมวลกฎหมายฉบับนี้แล้ว พร้อมทั้งประมวลกฎหมายฉบับนี้ระบุชัดเจนว่า หากมีผลบังคับใช้แล้วจะต้องยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ตั้งแต่ฉบับที่ 1-8 ที่เคยประกาศก่อนหน้า รวมถึง พ.ร.บ.และประกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย

แต่เมื่อพบกรณีการชี้แจงจากฝ่ายของผู้ใช้กฎหมายระบุว่า การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งปลูกกัญชายังถือเป็นความผิดในฐานการปลูก ผลิต และมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ไว้ในครอบครอง เนื่องจาก “ยัง” ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และไม่มีการขอขึ้นทะเบียนขออนุญาตปลูกตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด คือ ต้องเข้าร่วมกับวิสาหกิจชุมชน หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความสับสนทั้งตัวผู้ออกกฎหมาย ผู้ใช้กฎหมาย ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ไปจนถึงกระทบกับนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์

สรุปแล้วผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชาได้หรือไม่ หรือแท้จริงแล้วตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 กัญชาถูกปลดออกจากยาเสพติดแล้วหรือไม่ สถานะของกัญชาอยู่ที่จุดใด?

Advertisement

ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำยืนยันที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เท่าที่ทราบประมาณปลายเดือนมกราคม 2565 จะมีการประชุมคณะทำงานคณะกรรมการ ป.ป.ส. และมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่จัดตั้งมาพร้อมกับประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ร่วมหารือ เพื่อตีความ “กัญชา” กันใหม่อีกครั้ง คาดว่าจะได้เห็นทิศทางที่ชัดเจนในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลล่าสุดจากผู้เกี่ยวข้องในแวดวงกัญชาทางการแพทย์ ได้รับคำยืนยันว่า แม้จะมีประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับที่ออกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 และไม่มีชื่อของ “กัญชา” และ “กัญชง” ในรายการยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ทว่า มาตรา 8 ตามประมวลกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า กฎหมายที่บังคับใช้ก่อนหน้ายังคงบังคับใช้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมาย
ยาเสพติดฉบับนี้

ดังนั้น หากย้อนกลับไปดูประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 “กัญชา” ยังคงติดอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งมีส่วนที่ “ปลดล็อก” คือ 1.เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก 2.ใบที่ไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย 3.สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบโดยต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และ 4.กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชา และต้องมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ดังนั้น ยังคงต้องยึดการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวอยู่

ที่สำคัญคือ ส่วนที่เป็นช่อดอก เมล็ด ยางและน้ำมันที่มาจากช่อดอกกัญชา ยังถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จากประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับล่าสุด ที่ระบุผู้ขออนุญาตปลูกได้เพิ่มเป็น 8 กลุ่ม คือ
1.หน่วยงานรัฐที่มีวัตถุประสงค์ด้าน การแพทย์ 2.หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ด้านงานเภสัชกรรม 3.หน่วยงานรัฐด้านการเกษตร 4.สภากาชาดไทย

5.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่สอน สาขาการแพทย์และเภสัชกรรม 6.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรที่รวมกัน เป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งต้องอยู่ในกำกับของรัฐ 7.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรในวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม และต้องอยู่ในกำกับของผู้ได้รับอนุญาต 1 2 3 4 หรือ 5 8.ผู้ได้รับอนุญาตอื่นตามมาตรา 26/5(7) ดำเนินการภายใต้การรับรองของผู้ได้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน หรือแผนโบราณ หรือยาสมุนไพร ก็ตาม

แต่ยังไม่มีการระบุว่า “ผู้ป่วยสามารถขออนุญาตปลูกได้เอง” เพียงแต่การจะปลูกกัญชาที่บ้านได้ต้องเข้าร่วมกับวิสาหกิจชุมชนที่มี พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชนรองรับอยู่เท่านั้น จึงสามารถขออนุญาตปลูกกัญชาที่บ้านได้อย่างถูกกฎหมาย

สรุปได้ว่า การขออนุญาตปลูกกัญชาทั้งรูปแบบโรงเรือน ปลูกเองที่บ้าน ยังต้องเป็นความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน โดยจะต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานของรัฐที่ได้รับอนุญาตให้ส่งเสริมการปลูกกัญชาได้ เพื่อที่ว่าส่วนของกัญชาที่ยังไม่ได้รับการปลดล็อก เช่น ช่อดอกที่มีสาร THC ปริมาณสูง จะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานของรัฐเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม กำลังมีความพยายามหาความชัดเจนในเรื่องนี้ โดย นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องและภาคประชาชนชี้แจงและร่วมหารือในที่ประชุมกรรมาธิการสาธารณสุขฯ วันที่ 20 มกราคมนี้ หาคำตอบเรื่องการถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564

ทั้งหมดนี้ หวังว่าในการประชุมทั้ง 2 นัด ทั้งการประชุมกรรมาธิการสาธารณสุข และการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส.ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ จะมีความชัดเจนด้านข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชามากขึ้น ให้สมกับเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายฉบับล่าสุด ที่ต้องให้ชำระ พ.ร.บ.ยาเสพติด

ทั้งหมดที่มีมาก่อนหน้า และเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image