ศบค.เผยรายละเอียด 2 คนไทยดับจากโอมิครอน เป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว 1 ราย ยังไม่ฉีดวัคซีน

ศบค.เผยยอดติดเชื้อ 6,929 ราย เสียชีวิต 13 ราย เผยพบผู้สูงอายุดับเซ่นโอมิครอน 2 ราย แนะแยกพื้นที่สำหรับดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 17 มกราคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 6,929 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่ 6,670 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 42 ราย จากเรือนจำ 7 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 209 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 107,979 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 5,255 ราย รวมรักษาหายป่วยสะสม 59,722 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 82,210 ราย

พญ.อภิสมัยระบุว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก 533 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 108 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 13 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 240 ราย โดย 10 จังหวัดที่ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด อันดับ 1 ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร 722 ราย อันดับ 2 สมุทรปราการ 656 ราย อันดับ 3 ชลบุรี 454 ราย อันดับ 4 ภูเก็ต 389 ราย อันดับ 5 นนทบุรี 386 ราย อันดับ 6 ขอนแก่น 290 ราย อันดับ 7 อุบลรายธานี 210 ราย อันดับ 8 ปทุมธานี 199 ราย อันดับ 9 เชียงใหม่ 193 ราย และอันดับ 10 นครศรีธรรมราช 182 ราย

“สำหรับการรายงานคลัสเตอร์หลักๆ ยังคงเป็นร้านอาหารที่มีลักษณะกึ่งผับ กึ่งสถานบันเทิง นอกจากนี้ ยังมีรายงานคลัสเตอร์จากโรงงาน สถานประกอบการ และตลาด ซึ่งวันนี้มีรายงานคลัวเตอร์ที่ จ.อุดรธานี งานเลี้ยงสรรค์คือ งานเลี้ยงขึ้นบ้านใหม่ และงานเลี้ยงวันเกิด ที่ จ.อำนาจเจริญ พิธีกรรมทางศาสนาที่ จ.อุบลราชธานี จ.ร้อยเอ็ด จ.สมุทรปราการ โดยเป็นการติดเชื้อจากการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงแล้วกลับมาสัมผัสกับบุคคลใกล้ชิด ทำให้ระบาดเป็นคลัสเตอร์ขึ้น ส่วนบุคลากรทางการแพทย์มีรายงาน 2 คลัสเตอร์ คือที่โรงพยาบาลภูมิพล และโรงพยาบาลธนบุรี ขณะที่สำหรับภาพรวมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เข็มที่ 1 สะสม 51,809,191 โดส เข็ม 2 สะสม 47,579,865 โดส และเข็ม 3 สะสม 10,153,089 โดส” พญ.อภิสมัยกล่าว

Advertisement

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับรายงานผู้เสียชีวิต 13 ราย เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยแบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย บุรีรัมย์ 2 ราย ขอนแก่น 1 ราย นครราชสีมา 1 ราย ศรีสะเกษ 1 ราย อุดรธานี 1 ราย เชียงใหม่ 2 ราย เชียงราย 1 ราย ยะลา 1 ราย และประจวบคีรีขันธ์ 1 ราย ทั้งนี้ มีรายงานผู้หญิง 2 ราย ที่เป็นผู้เสียชีวิต 2 รายแรกของโอมิครอน โดยรายแรกเป็นผู้หญิง อายุ 60 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เสียชีวิตในวันที่ 12 มกราคม มีโรคประจำตัวคือเป็นผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้งมีโรคสมองเสื่อม โดยวันที่ 6 มกราคม เป็นวันแรกที่เริ่มมีอาการมีไข้ มีเสมหะ โดยประวัติพบว่าลูกสาวติดเชื้อและมีการสัมผัสใกล้ชิดจากหลานชายที่เดินทางกลับจาก จ.ภูเก็ต จากนั้นญาติได้ตรวจ ATK ในเบื้องต้นพบว่าผลเป็นบวก

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า จากวันที่ 6 มกราคม ก็ได้นำผู้ป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที และในวันที่ 7 มกราคม โรงพยาบาลได้ตรวจ RT-PCR ยืนยันว่าผลเป็นบวกเช่นกัน ในรายนี้พบว่าอาการทรุดลงอย่างเร็ว มีไข้สูง 38.5 องศา ปอดอักเสบ มีของเหลวในปอด ผู้ป่วยมีอาการไอ และหายใจลำบาก ในวันที่ 7 มกราคม ทางโรงพยาบาลได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ยาหลายขนาน รักษาตัวในห้องไอซียู และต่อมาก็เสียชีวิต

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นหญิงที่มีภูมิลำเนาที่ จ.อุดรธานี อายุ 84 ปี มีโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายเป็นโรคประจำตัว โดยรายนี้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 15 มกราคม ระยะแรกที่มีการติดเชื้อไม่ปรากฏอาการชัดเจน แต่พบประวัติว่าลูกชายติดเชื้อ ครอบครัวจึงให้ผู้ป่วยรายนี้ตรวจหาเชื้อ เมื่อวันที่ 9 มกราคม ด้วยวิธี RT-PCR และผลยืนยันว่าเป็นบวก โดยวันที่ 10 มกราคม ครอบครัวได้ประสานกับโรงพยาบาลเสนอให้มีการรับไว้รักษาในโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยกับญาติก็แสดงความจำนงขอรักษาตัวที่บ้าน และได้มีการเริ่มยาฟาวิพิราเวียร์ทันที

Advertisement

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า วันที่ 11-12 มกราคม มีรายงานว่าผู้ป่วยไม่มีไข้ อาการเหนื่อยหอบไม่ชัดเจน ออกซิเจนอยู่ประมาณ 86-90% วันที่ 13-14 มกราคม ญาติรายงานว่าผู้ป่วยเริ่มรับประทานอาหารได้น้อยลง ออกซิเจนเริ่มน้อยลง แต่ยังไม่มีไข้ จนกระทั่งวันที่ 15 มกราคม คนไข้เริ่มมีอาการเหนื่อย หายใจหอบมากขึ้น ออกซิเจนลดลงต่ำกว่า 76% และโรงพยาบาลแนะนำให้ส่งผู้ป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลหลังจากอาการเปลี่ยนแปลง แต่ญาติตัดสินใจขอไม่รับความช่วยเหลือในการใส่เครื่องช่วยหายใจและให้การรักษาที่บ้าน จนกระทั่งเสียชีวิต ทั้งนี้ ผู้ป่วยทั้ง 2 รายที่เสียชีวิตจากโอมิครอนนี้ มีปัจจัยร่วมชัดเจนคือ เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว มีการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง โดยรายแรกที่เสียชีวิตมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่เข็มที่ 2 ฉีดเกินระยะเวลา 4 เดือน ส่วนรายที่ 2 ยังไม่มีประวัติการรับวัคซีน

“สิ่งสำคัญที่อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำคือหากท่านมีผู้สูงอายุอยู่ร่วมบ้าน ต้องเน้นย้ำเรื่องการดูแล การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยไม่มีปัญหาเรื่องทางเดินหายใจ ขณะที่เข้าไปพบปะจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยให้ท่านด้วย และหากมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแลในบ้าน อาจจำเป็นต้องแยกห้องนอน แต่หากจำกัดพื้นที่ก็อาจจะมีการใช้ฉากกั้น หรือผ้าม่านให้มีลักษณะที่เป็นสัดส่วน พยายามแยกพื้นที่สำหรับที่ผู้ป่วยจะนั่งหรือใช้ รวมถึงการใช้ภาชนะถ้วยชาม ทั้งนี้ ควรทำความสะอาดที่เป็นจุดร่วมบ่อยๆ

“ส่วนในกรณีที่ต้องมีคนดูแลผู้ป่วยควรจะให้มีคนใดคนหนึ่งที่ดูแลประจำจะปลอดภัยกว่าการสลับคนดูแล โดยคนที่ดูแลอาจจะเป็นคนที่ออกไปด้านนอกน้อยที่สุด และขณะที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือยางด้วย รวมถึงการฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำให้เร่งฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3” พญ.อภิสมัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image