ไทยอากาศ พลิก ต้นปี ลานิญา-ฝนมาก ปลายปี เอลนิโญ-แล้ง!!

ไทยอากาศ พลิก ต้นปี ลานิญา-ฝนมาก ปลายปี เอลนิโญ-แล้ง!!

เมื่อวันที่ 19 มกราคม นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝนในปี 2565 นี้ อาจเป็นปีที่มีฝนแปรปรวนอีกครั้ง เพราะสภาวะอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมีแนวโน้มพลิกจากเย็นไปร้อน โดยในขณะนี้อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง หรือทางวิชาการเรียกว่า NINO3.4 นั้นมีสภาวะเป็นลานิญา โดยเริ่มเข้าสู่ลานิญามาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2564 และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้ส่งผลให้ภาคใต้ที่รับลมที่มาจากมหาสมุทรแปซิฟิก เกิดน้ำท่วมติดๆ กันถึง 3 ครั้งซ้อนในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และยังคาดว่าในเดือนมกราคม 2565 ภาคใต้เองยังมีแนวโน้มฝนตกมากกว่าค่าปกติและยังเสี่ยงเกิดน้ำท่วมขึ้นได้

นายสุทัศน์กล่าวว่า และจากการวิเคราะห์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง (ONI หรือ ENSO) มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ (PDO) และมหาสมุทรอินเดีย (DMI) ซึ่งทั้ง 3 มหาสมุทรส่งผลต่อสภาพอากาศและฝนในประเทศไทย ล่าสุดนั้น สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ฝน ปี 2565 จะคล้ายคลึงกับ ปี 2552 ซึ่งคาดว่าจะมีฝนตกเร็วโดยจะมีฝนจากพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้งตั้งแต่ เดือนมีนาคม-เมษายน และต่อเนื่องไปช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูฝนในเดือนพฤษภาคมที่ยังคงมีฝนตกลงมามากในหลายพื้นที่ของประเทศไทยตอนบน

จากฝนที่คาดว่าจะตกลงมาในช่วงนี้ จะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งของปี 2565 ไม่รุนแรงมากนัก โดยจะคล้ายกับปี 2564 ที่ผ่านมาซึ่งได้คาดว่าจะมีฝนตกมากกว่าปกติในช่วงเดือนเมษายน ก็ได้มีฝนตกลงมาจริงตามการคาดการณ์ช่วยบรรเทาภัยแล้งต้นปี 2564 ลงไปได้มาก แต่เมื่อวิเคราะห์ไปในช่วงครึ่งปีหลัง พบว่าจากสภาวะลานิญาจะกลับมาเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม ส่งผลให้ประเทศไทยจะมีฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน แม้จะมีฝนกลับมาตกเพิ่มขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม แต่หลังจากนั้นกลับพบว่าฝนจะตกน้อยกว่าปกติในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม โดยหากการคาดการณ์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลยังคงชี้ว่าจะคล้ายกับปี 2552 อยู่นั้น ก็มีโอกาสสูงมากที่ปลายปี จะพลิกกลับไปเป็นสภาวะเอลนิโญ

นายสุทัศน์กล่าวว่า ตอนปี 2564 คาดว่าเดือนสิงหาคม ฝนจะตกน้อยกว่าปกติ ก็เกิดขึ้นจริง และคาดว่าเดือนกันยายนจะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทย ก็ได้มีพายุเตี้ยนหมู่ เข้ามาทำให้ฝนตกหนักจริงตามคาดเอาไว้ ดังนั้น หากปีนี้สถานการณ์เกิดขึ้นจริงตามนี้ก็น่าเป็นห่วงมาก เพราะช่วงที่เขื่อนจะมีน้ำไหลลงอย่างเป็นกอบเป็นกำเพื่อเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไป ในปี 2566 นั้น ต้องมีฝนตกมากในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน อีกทั้งในฤดูแล้งปี 2564/2565 นี้น้ำต้นทุนในเขื่อนหลักของภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีน้ำต้นทุนน้อย โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การเพียง 4,268 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32% ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อน และเขื่อนสิริกิติ์มีน้ำใช้การเพียง 1,546 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 16% ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อน ซึ่งจะให้เขื่อนทั้ง 2 กลับมามีน้ำต้นทุนปกติจะต้องมีฝนตกในภาคเหนือตอนบนมาก แต่หากฝนตกน้อยกว่าปกติต่อเนื่องอีก ก็จะกระทบกับน้ำต้นทุนที่จะใช้ในปีต่อไป ซึ่งจำเป็นจะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างละเอียดรอบคอบร่วมกันทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานที่ต้องจัดการน้ำต้นทุน และหน่วยงานที่ต้องจัดการเรื่องการใช้น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำ

Advertisement

นายสุทัศน์ยังกล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำเค็มรุกในแม่น้ำเจ้าพระยาปี 2565 นั้น ยังคงจำเป็นต้องเฝ้าระวังในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เนื่องจากในขณะนี้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้นแล้วและปัจจุบันมีพื้นนาปรังสูงถึง 2.08 ล้านไร่ มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 1.3 ล้านไร่ จะทำให้มีการดึงน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น เมื่อน้ำจืดน้อยลงน้ำเค็มก็จะรุกตัวได้มาก จึงต้องเฝ้าระวังในช่วงน้ำหนุนสูงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จากนั้นในเดือนมีนาคม-เมษายน สถานการณ์น่าจะคลี่คลายลงตามที่คาดว่าจะมีฝนตกลงมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image