ร้านอาหารกึ่งผับชื่อดังทั่วไทยลอบเปิดผิดกฎหมาย ต้นเหตุคลัสเตอร์โควิด

ศบค. พบร้านอาหารชื่อดังทั่วไทยลักลอบเปิดผิดกฎหมาย ต้นเหตุระบาดเป็นคลัสเตอร์

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 19 มกราคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า จากการสอบสวนโรคของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คลัสเตอร์อันดับ 1 หลังปีใหม่ ได้แก่ ร้านอาหาร รวมสถานบันเทิง ต้องพูดคุยกันในวันนี้ให้ชัดเจน เพราะจะมีการพูดคุยกันในที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่

และจากรายงานของสาธารณสุข พบคลัสเตอร์ สถานบันเทิงกึ่งผับที่เปิดเป็นร้านอาหาร ใน จ.นนทบุรี ร้านมูนบาร์, จ.เพชรบุรี ร้านฮันนี่ไนท์, จ.อุบลราชธานี ร้านแสนคำ

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การลงพื้นที่สำรวจโดยละเอียด พบว่ามีสถานบันเทิง 21 แห่ง พบการติดเชื้อ โดยในจำนวนนี้ 7 ร้าน เป็นสถานบันเทิง ที่ผ่านการประเมิน COVID Free Setting แต่พบว่ามีการหย่อนมาตรการ ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ และพบว่า 14 ร้านเปิดโดยไม่มีการขออนุญาต ไม่ได้ผ่านการประเมิน COVID Free Setting เช่น จ.เชียงใหม่ ร้านโซนอินเยล ร้านท่าช้าง ร้านเสี่ยวสันติธรรม,

Advertisement

จ.ขอนแก่น ร้านดาร์คบาร์ ร้านรีเพลย์กราวด์ ถือว่าเปิดอย่างผิดกฎหมาย และถึงแม้ว่าจะเป็นร้านที่เปิดในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ก็ต้องเปิดถึงแค่ 21.00 น. เท่านั้น พบว่า 14 ร้าน มีการฝ่าฝืนมาตรการ และมีการติดเชื้อ เช่น จ.พะเยา ร้านพระรามแปด, จ.ชลบุรี ร้านเล่าเอิง, จ.บุรีรัมย์ ร้านเอสบาร์ เป็นต้น

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข รายงานปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การติดเชื้อในร้านเหล่านี้ สิ่งสำคัญที่สุด คือสภาพแวดล้อม ที่ไม่มีการจัดการระบบระบายอากาศ ไม่มีการจำกัดระยะเวลารับประทาน ภายใน 2 ชั่วโมง ไม่มีเว้นระยะห่าง ไม่จำกัดคนเข้าใช้บริการ โดยมาตรฐานที่สาธารณสุขกำหนด คือ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร หรือ 4 ตร.ม. สำหรับลูกค้า 1 คน ลำดับต่อมาคือ ไม่มีการคัดกรอง ความเสี่ยงของผู้ให้บริการ หรือ พนักงาน ตั้งแต่พนักงานฉีดวัคซีนไม่ครบ ไม่มีการตรวจ ATK พนักงานทุก 7 วัน และบางร้านมีพนักงานเสี่ยงสูงยังมาทำงานที่ร้าน และเกือบทุกร้านไม่มีผู้รับผิดชอบ เกี่ยวกับการเฝ้าระวังการติดเชื้อในร้าน สุดท้ายไม่มีการคัดกรองความเสี่ยงผู้มารับบริการ ไม่มีตรวจสอบประวัติลูกค้า อาจจะเป็นความเกรงใจ

Advertisement

“ร้านอาหารอาจมีแบบสอบถามสั้นๆ เช็กประวัติมีอาการไอ ไข้ เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงหรือไม่กับลูกค้า แต่ร้านเหล่านี้ไม่มีการตรวจสอบหลักฐานการฉีดวัคซีน ไม่มีการคัดกรองอุณหภูมิ รวมถึงไม่มีการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม และการชำระเงินอาจจะทำให้เกิดการสัมผัส ห้องน้ำลูกบิดประตูที่ไม่ได้ทำความสะอาด จึงขอฝากให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ตรวจสอบและพิจารณาติดสินใจซึ่งเป็นข้อมูลที่ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณา” พญ.อภิสมัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image