หมอธีระวัฒน์ ชี้ กัญชาใช้มากก็เมา ปลดล็อก ต้องมีกม.ควบคุมเหมือนเหล้า-บุหรี่

หมอธีระวัฒน์ ยกข้อมูลกัญชาการแพทย์ ชี้ ปลดล็อกต้องมีกม.คุม ถามเหล้า-บุหรี่ ติดง่ายโทษเยอะกว่า ทำไมได้

เมื่อวันที่ 21 มกราคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้ กัญชา กัญชง ในทางการแพทย์ ว่า เป็นที่รับทราบสรรพคุณการเป็นยาของกัญชาที่มีมากว่าพันปี ในไทยเองมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการทำตำรับยาแผนไทยเข้ากัญชากว่า 200 ชนิด ที่ผ่านการใช้จริง ทดลองซ้ำๆ ปรับปรุงจนเกิดเป็นตำรับยาได้ นี่ก็ถือเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน ส่วนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมายในขณะนี้มี 16 ตำรับ ย้ำว่า ตำรับของแพทย์แผนไทย จะไม่ใช่การใช้กัญชา กัญชงเดี่ยวๆ แต่ใช้ร่วมกับตัวยาสมุนไพรอื่นอย่างน้อย 2 ตัวขึ้นไป ซึ่งสรรพคุณตำรับยาเข้ากัญชงช่วยบรรเทาอาการ ไปจนถึงการรักษาผู้ป่วยได้ อาทิ การนอน ลดอาการสั่น เกร็ง ลดความเจ็บปวดทรมาน ช่วยโรคลมชักได้ เป็นต้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ฯ ร่วมกับชุมชนในประเทศไทยที่ใช้พืชกัญชา กัญชง ได้ศึกษาส่วนประกอบยาแพทย์แผนไทย 16 ตำรับดังกล่าว พบว่า ส่วนประกอบของตำรับยาเข้ากัญชา จริงๆ มีลักษณะเฉพาะตัวต่างกันไป นอกจากนั้น ยังพบว่าชุมชนที่มีการใช้กัญชา กัญชง จะมีการเลือกใช้ คือ 1.เฉพาะส่วนต่างๆ เช่น ช่อดอก ใบ ลำต้น ราก 2.เลือกใช้ใน 2 แบบ คือ ใช้สด และใช้แห้ง 3.กระบวนการสกัด คือ สกัดร้อน หรือสกัดเย็น ซึ่งจะมีทั้งแบบสกัดเดี่ยวหรือสกัดกับพืชอื่นเข้าไป ทั้งนี้ ชุมชนต่างๆ เรียนรู้ ปรับปรุงกระบวนการเหล่านี้ เราเองก็ได้เข้าไปพัฒนาเพื่อพิสูจน์ เชื่อมโยงระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์แผนไทย ให้เข้าใจซึ่งกันและกันได้

“เรานำสูตรต่างๆ ของกัญชา กัญชง มาใช้กับผู้ป่วย เช่น โรคนอนไม่หลับ อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เจ็บปวดทรมาน ควบรวมกับแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ขณะนี้เรากำลังศึกษาการตอบสนองของร่างกายก่อนและหลังใช้ยากัญชา กัญชง ประการสำคัญคือ เราใช้ส่วนประกอบจาก คณะTHC และคณะCBD ซึ่งจะมีพวกพ้องหลายตัว เช่น สารเทอร์พีน (Terpenes) ซึ่งช่วยให้การรักษาเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่เราไม่ใช่สารสกัดจาก THC CBD เดี่ยวๆ เนื่องจากความเข้มข้นสูงเกินไป จะเสี่ยงกับภาวะเมา ความดันตก ถึงขั้นเข้า รพ.ได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า เราพบว่าการใช้คณะTHC และคณะCBD ช่วยลดปริมาณการใช้ยา แต่สรรพคุณเท่ากันกับการใช้แบบเดี่ยวๆ ประการต่อไปคือ หากใช้สาร CBD เดี่ยวที่มากเกินไป จะไปเพิ่มฤทธิ์ยาปัจจุบันตัวอื่นขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับยาในปริมาณที่มากเกินไป(Over dose) ซึ่งคนจึงคิดว่านี่เป็นพิษจากการใช้กัญชง กัญชง แต่แท้ที่จริงแล้ว ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากกัญชา กัญชง แต่เกิดจาก CBD ไปเพิ่มฤทธิ์ยา ขณะเดียวกัน ยังมีความสำคัญกรณีผู้ป่วย เช่น พาร์กินสัน สมองเสื่อม ที่จะต้องใช้ยารักษาหลายชนิด ในจำนวนมหาศาล ก็จะเกิดผลข้างเคียง ไปจนถึงโรคมีแนวโน้มพัฒนาเร็วขึ้น ดังนั้น หากเราใช้คณะTHC และคณะCBD ในปริมาณที่เหมาะสมได้จะช่วยลดการใช้ยารักษาโรคต่างๆ ลงไปได้ ก็จะประหยัดค่าใช้ยา และยังมีผลพลอยได้ในการลดอาการหดหู่ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เป็นต้น

“เหมือนที่มีรายงานเมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่ากัญชามีฤทธิ์สู้โควิด-19 ได้ ในไทยเองเราก็พบว่ามีผู้ติดเชื้อที่ใช้กัญชารักษาอาการของตนเองด้วยวิธีการเวฟเข้าสู่ปอด ตรงนี้ก็ช่วยระงับหรือหยุดการอักเสบในปอดได้ ขณะเดียวกัน ก็ช่วยป้องกันไวรัสแตกตัว และไม่เข้าไปติดในเซลล์ใหม่ๆ ได้ โดยในไทยก็มีรายงานมาจากหลายข้อมูล” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามถึงว่าดังนั้น หากไทยมีการปลดล็อกกัญชาออกจากเสพติดให้โทษ คาดว่าจะมีการควบคุมได้หรือไม่ ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่าการปลดล็อกมีขั้นตอนของมัน แนวทางที่เป็นเบื้องต้นคือ ใช้ในครัวเรือนละ 2-6 ต้น ก็เพื่อใช้กัญชาในทุกส่วนเพื่อสุขภาพครัวเรือน คนเฒ่าคนแก่ นอนหลับ อารมณ์ดี คนปวดข้อเข่าก็ใช้ใบกัญชาทำชาได้ ดังนั้น ตรงนี้ก็น่าจะทำได้ โดยมีการให้ความรู้

Advertisement

“ประเด็นที่กลัวว่าจะใช้ในทางที่ผิดคือเพื่อนันทนาการ ซึ่งตรงนี้หากมองบุหรี่ เหล้า ที่ติดง่ายกว่ากัญชามาก แต่มีกฎหมายควบคุมได้ ดังนั้น หากกรณีใช้กัญชาแล้วเมาทำผิดกฎหมาย ก็จะเหมือนกินเหล้าเมา แล้วทำผิดกฎหมาย ส่วนบุหรี่เองที่พิสูจน์แล้วว่าทำให้เกิดมะเร็ง แต่ทำไมถูกกฎหมายได้ ดังนั้น หากมองในมุมกัญชาที่ใช้เพื่อสร้างความสุข คนใช้ก็ต้องมีความรู้ว่า หากใช้มากไปก็ทำให้เมาได้เช่นกัน” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า มีรายงานพิสูจน์จากต่างประเทศที่ศึกษาจีโนมในมนุษย์ พบว่า ผู้ที่ใช้กัญชาในปริมาณสูง จะมีประมาณ 10% ที่ติดกัญชา ซึ่งในปี 2017 พบว่า แท้จริงแล้วคนกลุ่มนี้มีรหัสพันธุกรรมเฉพาะ 4-5 ตำแหน่งที่เข้าได้กับกัญชา หมายความว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ใช้กัญชาในปริมาณมากแล้วจะติด โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ใช้กัญชาปริมาณสูงจะมีการใช้ในตามแต่โอกาส ไม่ได้มีความยากใช้ทุกวัน แต่ก็มีรายงานในส่วนของผู้ที่ติดกัญชาที่มีรหัสพันธุกรรมเฉพาะ เมื่อติดแล้วก็จะมีความเปลี่ยนแปลงในบางตำแหน่งของสมอง ซึ่งบางส่วนนี้จะมีอาการของโรคจิตหรือโรคประสาทได้ตามต่อมาด้วย

“กัญชา กัญชง เราไม่ได้ให้โทษว่าต้องขังคุก แต่เราน่าจะใช้กฎหมายแบบเดียวกับบุหรี่ เหล้า ในกรณีที่ใช้แล้วเกิดความเสียหายต่อสาธารณะ ส่วนระดับที่ใช้ช่อดอกไปสกัด นั่นคือไม่ใช่ของธรรมชาติ เพราะมีความเข้มข้นสูง ตรงนี้ต้องให้ความรู้ในการสกัด ซึ่งชาวบ้านศึกษาได้ เพื่อให้รู้ว่าจะใช้สิ่งที่สกัดออกมานั้นอย่างไร เช่น บอกปริมาณการใช้ วิธีใช้ที่ถูกต้อง อย่างไรแล้ว การสกัดนี้ก็ใช้ได้ตามบ้าน แต่คงต้องมีการให้ความรู้ เชื่อมโยงแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันเข้ากับชมรมใต้ดิน เพื่อให้ขึ้นมาอยู่บนดิน ช่วยกันหาแนวทางการใช้ให้ถูกต้อง เกิดประโยชน์ เพื่อให้ก้าวข้ามการใช้ยาแผนปัจจุบันที่หลายขนานในปริมาณมากได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image