วช.สร้างระบบเฝ้าระวัง พยากรณ์ ลดเชื้อในดิน ป้องกัน‘โรคเมลิออยด์’

วช.สร้างระบบเฝ้าระวัง พยากรณ์ ลดเชื้อในดิน

ป้องกัน‘โรคเมลิออยด์’

 

เมื่อกล่าวถึง “โรคเมลิออยด์” ชาวบ้านมักไม่รู้จักโรคนี้ รวมทั้งไม่รู้วิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ก่อโรค เชื้อโรคดังกล่าวเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ตามสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในดินและน้ำ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนมาก

 

โรคนี้เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง เมื่อเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ โดยอัตราการเสียชีวิตในกรณีนี้สูงถึง 40% และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ระหว่างปี พ.ศ.2553 ถึงปี พ.ศ.2558 พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ที่มีผลเพาะเชื้อยืนยันอย่างน้อยปีละ 1,700 ราย เสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 700 ราย ล่าสุดปี 2563 และ 2564 มีจำนวนผู้ป่วย 2,793 และ 2,191 รายตามลำดับ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริงมากเนื่องจากปัจจัยบางประการ ทำให้การรายงานผู้ป่วยและผลการรักษาของผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ที่มีผลเพาะเชื้อยืนยันไม่ครบถ้วน

Advertisement

ศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน

 

Advertisement

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน รศ.ดร.เกียรติไชย ฟักศรี ศ.ดร.รศนาวงศ์รัตนชีวิน ผศ.ดร.สกาวรัตน์ กันทะวงศ์ และ คณะ ด้วยความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายวิจัยของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

โดยงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ดำเนิน “โครงการวิจัยระบบเฝ้าระวัง พยากรณ์ และผลิตภัณฑ์ลดเชื้อในดินเพื่อป้องกันการติดเชื้อและบำบัดเสริมโรคเมลิออยด์” ได้พัฒนาชุมชนต้นแบบ หมู่บ้านหนองหญ้ารังกา อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อเสริมสร้างความรู้เน้นการป้องกันโรคและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อ

แนวคิดการสร้างระบบเฝ้าระวังและการสร้างชุมชนต้นแบบ

 

“ได้สร้างโมเดลการพยากรณ์โรคต้นแบบชนิด web-based application โดยนำข้อมูลทางพันธุกรรมของเชื้อจากทั้งคน สัตว์และสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่น้อยกว่า 500 ตัวอย่าง ประกอบกับคุณสมบัติและชั้นของดิน แผนที่ดาวเทียม มาร่วมวิเคราะห์ สร้างโมเดลเพื่อทำนายพื้นที่ที่จะพบเชื้อ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจ และคาดคะเนการระบาดของโรคเมื่อปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ให้กับผู้บริหารด้านการสาธารณสุขในการป้องกันการเกิดโรค และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านภูมิสารสนเทศกับการเกิดโรค” ศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในฐานะ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเมลิออยโดสิส มข.และ ผอ.แผนงานโครงการวิจัยระบบเฝ้าระวัง พยากรณ์ และผลิตภัณฑ์ลดเชื้อในดินเพื่อป้องกันการติดเชื้อและบำบัดเสริมโรคเมลิออยด์ กล่าว

 

นอกจากนั้น ทีมวิจัยยังได้ค้นพบแบคทีเรียรูปแท่งไม่ก่อโรคที่พบในดินธรรมชาติ แต่สามารถผลิตสารฆ่าเชื้อก่อโรคได้ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สองชนิด ชนิดแรกคือสปอร์ของแบคทีเรีย ซึ่งจะงอกและผลิตสารฆ่าเชื้อก่อโรคเพื่อใช้ฉีดพ่นใส่ดินร่วมกับปุ๋ยขณะปลูกข้าวหรือพืชอื่นๆ ในแหล่งที่มีการพบเชื้อก่อโรคในดิน สามารถลดปริมาณเชื้อก่อโรคในดินและส่งผลให้ลดความเสี่ยงของเกษตรกรหรือผู้สัมผัสดินได้นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ต่อเนื่องโดยไม่กระทบต่อผลผลิตข้าว และไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์อีกชนิดคือ การนำสารดังกล่าวมาผลิตเป็นสเปรย์ผิวที่กันน้ำเพื่อใช้สเปรย์มือและเท้า ป้องกันการติดเชื้อระหว่างลงนาที่มีการสัมผัสดินหรือน้ำที่มีเชื้อก่อโรค โดยเฉพาะผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง เช่น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน สามารถใช้สเปรย์ผิวป้องกันการติดเชื้อระหว่างลงนาซึ่งสะดวกกว่าการใส่ถุงมือหรือรองเท้าบู๊ตยาว

 

การใช้แบคทีเรียไม่ก่อโรค พบในธรรมชาติ มาควบคุมเชื้อก่อโรค โดยทำเป็นสูตรผสมปุ๋ยเพื่อให้เกษตรกรใช้ และสเปรย์พ่นก่อนลงพื้นที่เพื่อลดการติดเชื้อ

 

“ถึงแม้ว่ายาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาโรคนี้มีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่า 98% แต่ในกรณีที่พบเชื้อดื้อยาหรือเชื้อสายพันธุ์ใหม่ อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง ทีมวิจัยจึงได้ศึกษาสารเสริมฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ โดยใช้เปปไทด์ต้านจุลชีพ ไคโตซานนาโน และแบคเทอริโอเฟจโดยพบว่าสารทั้ง 3 ชนิด สามารถฆ่าเชื้อก่อโรคเมลิออยด์ที่ดื้อยาและทำลายการสร้างแผ่นฟิล์มชีวภาพ (ไบโอฟิล์ม) ของเชื้อก่อโรคเมลิออยด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการ” ศ.ดร.สุรศักดิ์กล่าว

 

และว่านอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะนำสารเสริมฤทธิ์นี้มาพัฒนาเป็นครีมทาผิวที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อโรคเมลิออยด์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ และสัตว์ทดลอง เพื่อดูประสิทธิภาพของสารและความปลอดภัย ก่อนที่จะนำไปทดสอบกับอาสาสมัคร และนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เสริมการรักษาในประชากรของชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคเมลิออยด์ต่อไป

การพัฒนาสารเสริมฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ สำหรับกรณีมีการดื้อยา

งานวิจัยทั้งหมดเป็นผลงานในปีที่ 1 และจะเสร็จสิ้นทั้งโครงการในปีที่ 2 ในปี 2566 โดยมีเป้าหมายลดอุบัติการณ์ของโรคเมลิออยด์ไม่น้อยกว่า 15-20% ใน 3-5 ปี

โรคดังกล่าวมีอัตราการเสียชีวิตสูง ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร หรือผู้ที่ทำงานสัมผัสดิน หรือน้ำ ในบริเวณที่มีเชื้อในดิน มีความเสี่ยงสูง การเจ็บป่วยและการเสียชีวิตทำให้สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละไม่ต่ำกว่า200 ล้านบาท

การให้ความรู้และสร้างชุมชนต้นแบบ การพยากรณ์โรคที่รวดเร็ว การมีผลิตภัณฑ์ที่ลดปริมาณเชื้อก่อโรคในดินและน้ำ ตลอดจนสเปรย์พ่นเพื่อลดปริมาณเชื้อบนผิวหนังก่อนการสัมผัสดินหรือน้ำที่สงสัยว่ามีเชื้อก่อโรคปนเปื้อน หรือครีมทาผิวที่ลดการติดเชื้อหลังสัมผัส นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคตแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ ลดโอกาสที่จะติดเชื้อเมลิออยด์ของประชาชนชาวไทย ทำให้ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้นได้ในระยะยาว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image