ชีวิตไหนก็ล้วนมีค่า สมาคมจิตแพทย์ฯสะท้อนการสูญเสีย ‘หมอกระต่าย’ สั่นคลอนคนที่ยังอยู่

ชีวิตไหนก็ล้วนมีค่า สมาคมจิตแพทย์ฯสะท้อนการสูญเสีย ‘หมอกระต่าย’ สั่นคลอนคนที่ยังอยู่

การสูญเสีย หมอกระต่าย-พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ผู้ประสบเหตุจากการที่ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กก.อารักขา บก.อคฝ. ขี่รถจักรยานยนต์ DUCATI MONSTER ชนขณะข้ามทางม้าลายหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ส่งผลให้ พญ.วราลัคน์ บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต ในเวลาต่อมา สร้างแรงกระเพื่อมใหญ่ในสังคมไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพจเฟซบุ๊ก รู้เรื่องตา-ตาปลอม โดย พญ.อรวีณัฏฐ์ นิมิตรวงศ์สกุล จักษุแพทย์ สาขาศัลยกรรมตกแต่งเสริมสร้างเบ้าตาและอวัยวะรอบดวงตา หัวหน้าศูนย์ตาปลอม โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) และผู้ก่อตั้งศูนย์ Metta Prosthetic Eye Center : MPEC ระบุถึงประเด็นการสร้างจักษุแพทย์ไทย และการสูญเสียหมอกระต่ายส่งผลต่อวงการจักษุอย่างมาก เนื่องจาก พญ.วราลัคน์เป็นหมอในสาขาที่ขาดแคลน เรียน 2 สาขาย่อย สามารถช่วยผู้ป่วยทางตาได้มากมาย

ด้าน สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย โดย หมอมีฟ้า กล่าวถึงการจากไปของ พญ.วราลัคน์ หรือหมอกระต่าย ในแง่มุมผลกระทบไม่เพียงคนหนึ่งคนหายไป ทว่า ยังเป็นความสั่นคลอนในการใช้ชีวิตของคนที่ยังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสีย หรือความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการใช้ชีวิต

“ความสั่นคลอนในการใช้ชีวิตของคนที่ยังอยู่ การเสียชีวิตของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือคุณหมอกระต่าย เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 จากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชน ขณะเดินข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย นับเป็นความสูญเสียของวงการแพทย์ไทยที่ใหญ่หลวง เนื่องจากคุณหมอเป็นจักษุแพทย์ที่จบเฉพาะทางอนุสาขาขาดแคลน อีก 2 อนุสาขา ซึ่งมีเพียงหลักสิบคนในประเทศไทย

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม หากมองในฐานะประชาชนในสังคม ในฐานะคนเดินเท้า ใช้รถใช้ถนน ไม่ว่า ‘ชีวิต’ ไหนก็ล้วน ‘มีค่า’ นอกจากผลการดำเนินคดีที่หลายคนกังวลว่าจะไม่ตรงไปตรงมาแล้ว หลายคนก็ตั้งคำถามถึง ‘ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน’ ในการใช้ชีวิต และทวงถามบทลงโทษที่ควรถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะในต่างประเทศที่ผู้ขับขี่หยุดรถเสมอที่ทางม้าลาย หรือป้าย ‘หยุด’ นั้น เป็นเพราะบทลงโทษที่รุนแรงและถูกบังคับใช้จริงจากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จนเกิดเป็นความเคยชินในการปฏิบัติตามกฎ หาใช่เพราะจิตสำนึกที่เกิดขึ้นมาเอง หรือการอบรมบ่มนิสัยจากครอบครัวเป็นหลัก

“เรา ‘ปรับตัว’ ให้อยู่ร่วมกับโรคระบาดที่ยืดเยื้อนานหลายปีได้ ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แต่เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะรักษาชีวิตให้ยืนยาวได้ ไม่ต้องจบลงเพราะโครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่ไม่ปลอดภัย หรือการกระทำโดยประมาทของใครบางคน?

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

“มากกว่าการเสียชีวิตของผู้หญิงหนึ่งคน เหตุการณ์นี้ยังหมายถึงการที่คนไข้โรคตานับไม่ถ้วน สูญเสียแพทย์เฉพาะทางสาขาขาดแคลน การที่พ่อแม่สูญเสียลูก การที่ญาติมิตรสูญเสียเพื่อน การที่ผู้เห็นเหตุการณ์อาจประสบภาวะผิดปกติทางจิตใจจากการประสบเหตุการณ์รุนแรง (Acute Stress Disorder (ASD) คลิก) การที่ผู้เคยประสบอุบัติเหตุคล้ายๆ กันนี้ อาจถูกกระตุ้นให้มีภาวะความเครียดทางจิตใจขึ้นมาอีกได้ (Post Traumatic Stress Disorder (PTSD) คลิก) การที่ผู้ที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปจากเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้ อาจถูกกระตุ้นให้มีภาวะความเครียดทางจิตใจขึ้นมาอีกได้ ฯลฯ

“ผลกระทบไม่ใช่เพียงคนหนึ่งคนหายไป แต่มันคือความสั่นคลอนในการใช้ชีวิตของคนที่ยังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียที่คนที่รู้จัก หรือเกี่ยวโยงกับคุณหมอเป็นการส่วนตัวต้องเผชิญ หรือความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะคนที่มีลูกมีหลานต้องดูแล

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าชีวิตของคุณหมอจะไม่เสียไปอย่างสูญเปล่า เพราะไม่ว่าชีวิตไหนก็ไม่ควรต้องมาจบลงเช่นนี้ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของ #หมอกระต่าย ค่ะ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image