สธ.ยันฉีดวัคซีนโควิดครึ่งโดสเข้าชั้นผิวหนัง ภูมิฯ ขึ้นดี แต่ระวัง! เจอรอยแดง เป็นหนอง

สธ.ยันฉีดวัคซีนโควิดครึ่งโดสเข้าชั้นผิวหนัง ภูมิฯ ขึ้นดี แต่ระวัง! เจอรอยแดง เป็นหนอง

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ สธ.โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติให้เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นให้ประชาชน โดยเฉพาะเข็มที่ 3 ที่จำเป็นต้องฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค สอดคล้องกันกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญหลายคน ขณะเดียวกัน การฉีดกระตุ้นเข็มที่ 4 ในประชาชนทั่วไปที่รับเข็มที่ 3 มานานกว่า 3 เดือน ก็สามารถเข้ารับการกระตุ้นได้แล้วเช่นกัน โดยเน้นย้ำในกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค หรือกลุ่ม 608

“อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้นับว่าเป็นเข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 แต่เราดูเป็นเข็มกระตุ้น ซึ่งตอนนี้ฉีดได้ครอบคลุม ร้อยละ 20 แล้ว” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง และฉีดครึ่งโดส สามารถทำได้ทั้งในวัคซีนชนิด mRNA และชนิดไวรัลเวกเตอร์ หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการฉีดครึ่งโดส หรือฉีดเข้าในชั้นผิวหนังนั้น จุดประสงค์ก็เพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการไม่พึ่งประสงค์หลังฉีด โดยคำแนะนำของ สธ.ในขณะนี้คือ เฉพาะชนิด mRNA เท่านั้น ส่วนชนิดไวรัลเวกเตอร์ สธ.แนะนำให้ฉีดเต็มโดสเข้ากล้ามเนื้อตามปกติ

“ทั้งนี้ การฉีดชนิด mRNA เข้าในชั้นผิวหนัง หรือครึ่งโดส ผู้รับวัคซีนสามารถเลือกได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ด้วย” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

ทางด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาของ จ.ภูเก็ต ที่เป็นจังหวัดรองรับการท่องเที่ยว และจำเป็นต้องรับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ได้ใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง พบว่า ได้ผลดี ภูมิคุ้มกันขึ้นพอๆ กับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนภูมิฯ จะอยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ยังไม่ทราบ เพราะต้องเก็บข้อมูลระยะยาว ต้องใช้เวลา แต่โดยหลักแล้ว การฉีดวัคซีนโควิด-19 ภูมิฯ จะอยู่ได้ระดับหนึ่งจึงต้องฉีดกระตุ้น

“ทั้งนี้ การฉีดที่ลดปริมาณลงมา เช่น ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง หรือฉีดครึ่งโดส เราจะใช้ในช่วงที่มีวัคซีนมีน้อย แต่ในขณะนี้ เรามีวัคซีนเพียงพอ หรือหากต้องการลดผลข้างเคียง เช่น ฉีดชนิด mRNA ในเด็กผู้ชาย ที่พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เมื่อมีการฉีดเข็มกระตุ้น ก็สามารถฉีดครึ่งโดส หรือฉีดเข้าในชั้นผิวหนังได้ ด้านอาการข้างเคียงของการฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง เราพบว่า อาการข้างเคียงลดลง มีเพียงอาการปวดแดงบริเวณที่ฉีด ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อฉีดเข้าในชั้นผิวหนังแล้ว มีโอกาสที่จะพบรอยแดง เป็นหนอง เหมือนเป็นแผลที่แขน จุดตรงฉีดได้ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาก ซึ่งไม่อยากให้เกิดเป็นความเข้าใจผิด จึงต้องเน้นย้ำเรื่องนี้ แต่ยืนยันว่าภูมิฯ ขึ้นดีพอๆ กับฉีดเข้ากล้าม” นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image