จิตแพทย์ชี้เหตุคนไทยไร้บุตร ค่านิยม-เศรษฐกิจมีส่วนไม่คิดสร้างครอบครัว จ่อรุกปรับทัศนคติ

จิตแพทย์เชี้คนไทยไร้บุตร ค่านิยม-เศรษฐกิจมีส่วนไม่คิดสร้างครอบครัว จ่อรุกปรับทัศนคติ

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็กไทยเกิดน้อย เนื่องจากคนไทยส่วนหนึ่งอยากเป็นโสด ไม่อยากมีลูก หรือพร้อมมีลูกเมื่ออายุมาก ทำให้มีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก ว่า เหตุผลที่ปัจจุบันคนไทยมีลูกน้อยลง ต้องยอมรับว่า 1.การเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในประชากรบางกลุ่ม ทำให้ชะลอการมีครอบครัว และชะลอการมีบุตรด้วย ขณะที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวดีขึ้นมาก ส่งผลให้ผู้หญิงที่จะเข้าสู่ความเป็นแม่ หรือตั้งใจมีบุตรถูกชะลอออกไป

พญ.อัมพร กล่าวว่า 2.ความคาดหวังต่อบทบาทของความเป็นพ่อแม่ และความคาดหวังต่อคุณภาพของลูก เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมากในระยะหลัง หลายคนตั้งความคาดหวัง หากจะต้องเป็นพ่อแม่คน ต้องมีความพร้อม ซึ่งกว่าจะถึงเวลาที่พร้อมจริง ความสามารถในการมีบุตรก็อาจถดถอยลงไป และความเครียดต่อเรื่องนี้ทำให้โอกาสต่อการเจริญพันธุ์ได้รับผลกระทบด้วย

“ส่วนหนึ่งคาดหวังคุณภาพของเด็ก ทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกวิตกกังวลต่อบทบาทความเป็นพ่อแม่ คือกว่าจะพร้อมก็เลยเวลาของวัยเจริญพันธุ์ไปพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ทำให้โอกาสของการคลอดก็ลดลง แต่เราต้องแก้ไข คือ ควรดูแลให้มีการควบคุมวางแผนครอบครัวเป็นไปอย่างดี มิเช่นนั้น บรรดาทารกที่เกิดบนความไม่พร้อม แม้มีปริมาณมาก  อาจด้อยคุณภาพ กลุ่มที่ลังเลใจจากความคาดหวังต่อมาตรฐานสูงในการเป็นพ่อแม่และการเลี้ยงดูเด็ก ต้องมีกลไกไม่ให้อยู่ในมาตรฐานที่สูงเกินไป มีความคาดหวังที่มากเกินไป มีความผ่อนคลายและเข้าใจธรรมชาติของชีวิตครอบครัว ที่จะมีคุณค่าในการเติมเต็มความสุขที่แท้จริง มีโครงสร้างเชิงสังคมที่จูงใจพ่อแม่มีความพร้อม มีความสุขที่จะมีลูก” พญ.อัมพร กล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า มีการวิเคราะห์โจทย์ความกังวลใจของพ่อแม่ที่มีคุณภาพ มีทั้งการเลี้ยงดู การเป็นภาระ ดังนั้น ถ้ามีกลไกทางสังคมที่สนับสนุนการเลี้ยงดูที่ดีให้พ่อแม่ได้ เช่น คนห่วงกังวลเรื่องการทำงาน ก็มีสถานดูแลเด็กที่มีคุณภาพ ไม่ต้องแย่งกันเข้าหรือใช้เงินมาก ทุ่มเทเพื่อซื้อพื้นที่ดีๆ ให้กับลูก หรือเข้าโรงเรียนใช้เงินมาก การแข่งขันสูง ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพ พ่อแม่ทุกคนมั่นใจว่ามีลูกจะมีโรงเรียนดีๆ โดยไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากมาย ก็จะเบาใจมากขึ้น ยังมีโครงสร้างทางสังคมหลายเรื่องที่สามารถปรับปรุงให้พ่อแม่มีความพร้อมและมีความสุขที่จะมีลูก

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสความคิดคนอยากเป็นโสดมากขึ้น จนทำให้แต่งงานช้า หรือมีลูกช้า พญ.อัมพร กล่าวว่า กระแสสังคมทั่วโลกมีแนวโน้มของการติดอยู่ในความเป็นวัตถุนิยม คำนึงถึงความสุขทางวัตถุมากกว่าทางจิตใจ และจับต้องง่ายกว่าความสุขทางใจ ซึ่งต้องอาศัยวุฒิภาวะมากกว่า ก็เป็นสิ่งที่บั่นทอนการมีโอกาสสร้างครอบครัว

“กระแสสังคมทั่วโลกค่อนข้างเน้นความเป็นปัจเจกบุคคล จากสมัยโบราณที่ต้องพึ่งพิงกันและกัน แต่ปัจจุบันถูกทดแทนด้วยเงิน ถ้าเราสามารถสร้างรายได้เป็นเงิน จึงมีโอกาสตอบโจทย์ความจำเป็นอื่นๆ ทางกายภาพของชีวิตได้ง่าย เช่น ใช้เงินซื้อข้าว ซื้อเสื้อผ้า ทำทุกสิ่งทุกอย่าง จะพาลทำให้เข้าใจผิดว่าเงินเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญ และความเข้าใจผิดนี้ทำให้คนเรามีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ในสัมพันธภาพใดๆ จึงหายไปเรื่อยๆ ทำให้คนเห็นคุณค่าของครอบครัวน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย กลายเป็นอยู่คนเดียวมีความสุขเบ็ดเสร็จในตัว จึงเป็นอุปสรรคต่อการเกิดครอบครัวและการมีเด็กรุ่นใหม่” พญ.อัมพร กล่าว

เมื่อถามว่า ต้องมีระบบให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา เพื่อสนับสนุนให้คนหันกลับมามีลูกหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า ในแง่มุมสุขภาพจิตมีบทบาทในหลายระดับ ทั้งระดับบุคคลและครอบครัว ถ้าเราทำให้ประชาชนเข้าใจคุณค่าของครอบครัวที่สมบูรณ์ คือ การมีลูกปริมาณที่เหมาะสมและคุณภาพที่ดี ถ้างานสุขภาพจิตสามารถให้ข้อมูลให้ข้อแนะนำที่ดีตรงนี้ได้ก็จะช่วยในระดับบุคคลได้ แต่ระดับมหภาคต้องยอมรับความจริงอันหนึ่งว่า การคลายความเครียดของสังคม การช่วยให้ประชาชนอยู่บนพื้นฐานความคาดหวังที่พอเหมาะพอควรจนไม่เลยเถิดกลายเป็นความเครียดต่อการมีชีวิตครอบครัว หรือมีความเครียดต่อการเลี้ยงดูเด็ก ก็จะเป็นอีกส่วนที่กรมสุขภาพจิตจะทำหน้าที่ ช่วงที่ผ่านมา สังคมไทยและสังคมโลกอาจคุ้นชินเรื่องการวางแผนครอบครัว และคาดหวังในคุณภาพ

Advertisement

“เราอยากให้พ่อแม่ทุกคนมีลูกที่มีคุณภาพ แต่พอรณรงค์การเพิ่มคุณภาพลูกเยอะๆ กระแสตรงนี้กลายเป็นความกดดันได้ อาจต้องมองย้อนกลับในอีกทิศทาง ให้เกิดสมดุลว่า ความคาดหวังที่พอเหมาะพอควร บนความรู้สึกผ่อนคลายมีความสุขนั้นต้องเป็นอย่างไร ต้องช่วยกันทำ” พญ.อัมพร กล่าว

ต่อข้อถามถึงเกณฑ์รูปธรรมของความพร้อมที่จะมีลูก พญ.อัมพร กล่าวว่า มีการพูดถึงเรื่องนี้ และมีข้อมูลทางวิชาการรองรับ โดยพ่อแม่ที่เหมาะสมในเชิงอายุ คือ วัยผู้ใหญ่ตอนต้น เชิงการศึกษา ก็ควรจะเป็นจบการศึกษาปริญญาตรี หรืออย่างน้อย ม.6 เป็นช่วงอายุและการศึกษาที่มีคุณภาพต่อการเป็นพ่อแม่ ทารกที่เกิดจะมีคุณภาพ ส่วนสถานะครอบครัวอยากให้ปูพื้นฐานว่า พ่อแม่มีความรักใคร่ อยู่ด้วยกันในช่วยเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยรุ่น เด็กที่มาจากความรัก ความพร้อม พ่อแม่อยู่กันครบถ้วนจะมีคุณภาพสูงกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือมีการแยกทางกัน โดยเฉพาะแยกทางตั้งแต่อายุน้อย เด็กจะยิ่งเจอปัญหาในเชิงคุณภาพมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีเชิงของเศรษฐกิจ พ่อแม่ไม่มีหนี้สินเลี้ยงดูลูกได้ดีกว่า

“ถ้าถามถึงเกณฑ์ที่เหมาะสมในการมีครอบครัวและมีลูกก็มีเชิงรูปธรรม แต่สังคมไทยยังไม่ตกผลึกออกมาเป็นแบบบัญญัติชัดๆ อาจจะต้องมีแนวทางคร่าวๆ ให้พ่อแม่ส่วนหนึ่งประเมินตนเองได้ มิเช่นนั้น จะเอาชีวิตไปผูกกับความหวังที่สูง มาตรฐานที่สูงจนกลายเป็นความกดดัน” พญ.อัมพร กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image