พม.ชูเงินอุดหนุนเด็ก 600 บ.-ศูนย์เลี้ยงเด็กทั่วถึง ช่วยกระตุ้นคนอยากมีลูก ชี้เกิดน้อยแต่ต้องมีคุณภาพ

พม.ชูเงินอุดหนุนเด็ก 600 บ. ช่วยกระตุ้นคนอยากมีลูก คู่ส่งเสริมอาชีพ ชี้เกิดน้อยแต่ต้องมีคุณภาพ

พม.ชูเงินอุดหนุนเด็ก 600 บ.-ศูนย์เลี้ยงเด็กทั่วถึง ช่วยกระตุ้นคนอยากมีลูก ชี้เกิดน้อยแต่ต้องมีคุณภาพ

จากกรณี กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาเปิดเผยสถานการณ์ประชากรไทย เข้าสู่ยุคเด็กไทยเกิดน้อย โดยปี พ.ศ.2564 เด็กไทยเกิดลดลงเหลือ 544,570 คน โดยคาดการณ์หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ ประเทศไทยจะเหลือประชากรไม่ถึง 40 ล้านคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาจกระทบแรงงานขาดแคลน และการจัดเก็บภาษีในอนาคต ท่ามกลางประชากรสูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น อาจต้องอยู่โดดเดี่ยว และไม่มีลูกหลานให้พึ่งพิงนั้น

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ในส่วนกระทรวง พม.มีนโยบายส่งเสริมการมีบุตร ผ่านโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จัดสรรเงิน 600 บาทต่อเดือน ให้กับเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ในครอบครัวที่มีฐานรายได้ต่อปีรวมไม่เกิน 1 แสนบาท ทั้งนี้ อาจช่วยครอบครัวผู้มีรายได้น้อยได้จำนวนหนึ่ง แต่ในอนาคต พม.ก็พยายามเสนอขยายโครงการขอให้จัดสรรเงิน 600 บาท เด็กแรกเกิดถึง 6 ปีแบบถ้วนหน้า เบื้องต้นต้องรอดูสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของประเทศก่อนว่าพร้อมหรือไม่

ปลัด พม. กล่าวอีกว่า พม.ยังร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และท้องถิ่น เตรียมเปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก รองรับเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี ที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ เปิดโอกาสให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน พร้อมมีมาตรฐานกำกับ เบื้องต้นปีนี้ พม.ตั้งเป้าหมายจะเริ่มทำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเด็กเกิดมากก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจข้อมูลแต่ละหมู่บ้านว่ามีเด็กแรกเกิดมากน้อยเพียงใด สำรวจความพร้อม ก่อนนำร่องบางพื้นที่ที่มีเด็กเกิดมากก่อน จากนั้นค่อยขยายไปพื้นที่อื่นๆ

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้กระทรวงแรงงาน (รง.) ผลักดันให้สถานประกอบการต่างๆ มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน เพื่อให้พ่อแม่ที่มีเด็กแรกเกิดไม่ต้องลาออกจากงานเพื่อไปเลี้ยงลูก เพราะสามารถฝากเลี้ยงระหว่างไปทำงานได้ หรือระหว่างลูกไปโรงเรียน แล้วพ่อแม่ยังทำงานอยู่ ไม่สามารถไปรับลูกได้ พม.ก็เตรียมนำร่องให้มีห้องฝากเลี้ยงเด็กในอาคาร พม. ภายในจะมีพี่เลี้ยงเด็กคอยดูแลระหว่างรอพ่อแม่เลิกงาน และรับกลับบ้าน

Advertisement

นางพัชรี กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่มิติทางสังคมอย่างเดียว ยังมีอีกหลายมิติ คิดว่าหากอยากผลักดันให้คนมีลูกมากขึ้น หลายหน่วยงานต้องช่วยกันผลักดัน ตั้งแต่การดูแลตั้งครรภ์ที่เหมาะสม คลอดอย่างปลอดภัย เมื่อคลอดมาแล้ว ต้องส่งเสริมให้มีอาชีพ มีรายได้ และมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ซึ่งพม.พร้อมดูแลครอบครัวและเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งหมดนี้เพื่อให้พ่อแม่คิดว่าการมีลูกไม่ใช่ภาระ และอยากมีลูก

ด้าน นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวง พม. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาท้าทายในการแก้ไข ซึ่งมีค่านิยมการสร้างครอบครัว พบว่าปัจจุบันวัยทำงาน หนุ่มสาวมีค่านิยมสร้างครอบครัวขนาดเล็กลง การสมรสก็อาจไม่มีบุตรด้วย โดยโครงการที่ พม.ดำเนินการภายใต้นโยบายรัฐบาล นอกจากให้เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในครัวเรือนยากจน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรแล้ว ยังส่งเสริมให้ผู้ปกครองนำบุตรเข้าสู่บริการสาธารณสุขมากขึ้น เพื่อให้รับการแนะนำเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ

อธิบดี ดย. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้ขับเคลื่อนมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กสมวัยแห่งชาติ เพื่อกำกับดูแลสถานพัฒนาเด็กประถมวัยทั่วประเทศกว่า 5.4 หมื่นแห่ง เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถฝากบุตรให้ได้รับการพัฒนาสมวัยครบทุกมิติ อีกทั้งใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับทุกหน่วยงานในแต่ละกระทรวง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันสำหรับเด็กเกิดน้อยแต่มีคุณภาพ

Advertisement

“เรามองว่าการพัฒนาเด็กคนหนึ่งจะต้องพัฒนาสถาบันครอบครัว ให้มีสัมพันธภาพที่ดี เคารพสิทธิความเสมอภาค ฉะนั้น พม.จึงสนับสนุนผ่านกลไกในพื้นที่ต่างๆ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือและพัฒนาชุมชน ร่วมกับหลายหน่วยงานในพื้นที่ อาสาสมัคร สภาเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างครอบครัวพลังบวก ลดปัญหาที่เกิดจากความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว” นางจตุพร กล่าว

จากข่าว

– อัตราเพิ่มคนไทย ‘ติดลบ’ ถึงเวลาเลือกอนาคตประเทศ ‘ปริมาณ’ หรือ ‘คุณภาพ’

– จิตแพทย์ชี้เหตุคนไทยไร้บุตร ค่านิยม-เศรษฐกิจมีส่วนไม่คิดสร้างครอบครัว จ่อรุกปรับทัศนคติ

– อีกไม่นาน! ไทยเหลือ 40 ล้านคน สธ.เร่งตีปี๊บส่งเสริมครอบครัวมีลูก แก้ขาดแรงงาน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image