นายกฯ ชื่นชมชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน ชี้เป็นข้อมูลจริง ทันสมัย เป็นประโยชน์

นายกฯ ชื่นชมชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน “Thailand Community Data” จากโครงการ U2T ชี้เป็นข้อมูลจริง ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจวางแผนในการพัฒนาพื้นที่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก BCG สั่ง อว. ประสาน มท. เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลบิ๊กดาต้าเพื่อพัฒนาพื้นที่แบบมุ่งเป้า

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อม ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T พร้อมผู้บริหาร อว. ได้นำเสนอชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Thailand Community Data) หรือ TCD จากโครงการ U2T แก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำฐานข้อมูล TCD ซึ่งเป็นฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้าของประเทศที่มีความละเอียดสูงมากไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยยุทธศาสตร์บีซีจี

ทั้งนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก  เปิดเผยหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชมการนำเสนอกิจกรรมฯ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชื่นชมโครงการนี้ที่ทำให้ได้ข้อมูลจริง ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ เพื่อวางแผนในการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและแม่นยำขึ้น โดยอาศัยข้อมูลเป็นที่ตั้ง และเป็นเรื่องดีที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ รวมกันเป็นชุดข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนที่มีความบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมสั่งให้ อว.ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยนำข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาครัวเรือนยากจน โดยเฉพาะการนำข้อมูลที่เกี่ยวกับบีซีจีมาสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และให้ อว.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม

Advertisement

“ผู้บริหาร อว. ขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ที่อนุมัติให้ อว. ดำเนินการจ้างงานในโครงการ U2T เปิดโอกาสให้บัณฑิต นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ได้ลงไปทำงานกับชุมชน จนทำให้ประเทศได้ฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า ในชื่อ TCD วันนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่ อว. ได้นำผลงานของผู้ได้รับการจ้างงาน ที่จัดทำเป็นฐานข้อมูลที่มีความละเอียดและครอบคลุมแทบจะทุกมิตินี้ มานำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและ ครม. เพื่อนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี ที่เป็นวาระแห่งชาติ” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ U2T กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันในฐานข้อมูล TCD มีข้อมูลที่จัดเก็บมาได้กว่า 1 ล้านชิ้น โดยแบ่งหมวดหมู่ต่างๆ ได้แก่ ข้อมูลประชากร อาชีพและรายได้ พืชและสัตว์ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกษตรกรในท้องถิ่น แหล่งน้ำในท้องถิ่น ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารในท้องถิ่น อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น และที่พักโรงแรม เป็นต้น ฐานข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกจัดเก็บ เรียบเรียงเพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่า เชื่อมโยงการวิเคราะห์กับข้อมูลความต้องการของตลาด ข้อมูลปัจจัยต่างๆ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานราชการอื่น อาทิ ข้อมูลผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ข้อมูลการส่งออก ข้อมูล TPMAP ที่เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนและแก้จนแบบชี้เป้า เป็นต้น

“ขณะนี้ อว. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานจัดเก็บ อาทิ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นต้น เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลที่มีความสมบูรณ์และครอบคลุมทุกมิติ พร้อมส่งเสริมและเผยแพร่ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวิเคราะห์ เพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างหลากหลาย ที่สำคัญ อว. จะส่งคืนข้อมูลในฐานข้อมูล TCD นี้ให้กับชุมชนทั้ง 3,000 ตำบล ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลที่แท้จริง เพื่อนำไปใช้พัฒนา สร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชนของตนเอง และได้มอบให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเข้ามาสนับสนุนชุมชนอย่างใกล้ชิดและมุ่งเป้าตามนโยบายของรัฐบาล” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image