12 เขต สุขภาพจัดใหญ่ เดินหน้า ‘กัญชาเสรี’

12 เขต สุขภาพจัดใหญ่ เดินหน้า ‘กัญชาเสรี’

ประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของประเทศไทย ในวันที่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จรดปากกาลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปลดล็อก “กัญชา” พ้นบัญชีรายชื่อยาเสพติด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ขณะที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. … เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อออกกฎหมายรองรับประกาศ สธ.ฉบับดังกล่าวที่จะมีผลบังคับใช้ใน 120 วัน
ข้างหน้าหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ตรงไปตรงมาว่า สาระสำคัญของ พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ คือการปลดล็อกทางการแพทย์ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการปลูกที่บ้านเพื่อรักษาตนเองด้วยภูมิปัญญาไทย และการสนับสนุนส่งเสริมในระดับอุตสาหกรรมเพื่อกำลังการผลิตแข่งขันในตลาดโลก

แต่แน่นอนว่า ระยะเวลา 120 วัน ที่รอผลบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ ประชาชนจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องการปลูก การใช้ และการต่อยอดกัญชา-กัญชง

Advertisement

ล่าสุด “นพ.ภูวเดช สุระโคตร” ผู้ช่วยปลัด สธ. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในเรื่องดังกล่าวว่า กระแสกัญชาไม่ได้เพิ่งเริ่มในปี 2565 แต่จริงๆ เริ่มมากว่า 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562 ที่รัฐบาลไทย โดยการนำของ “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ผลักดันนโยบายกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ซึ่ง สธ.ได้สนองนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชารักษาโรค ผลิตภัณฑ์จากกัญชา แต่ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่สามารถให้ประชาชนเข้าถึงได้เต็มที่ โดยขณะนั้นมีการปลดล็อกเกือบทุกส่วนของกัญชาเพื่อการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นกิ่งก้าน ราก ใบ ลำต้น แต่ยังล็อก “ช่อดอก เมล็ด” ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 อยู่

“แต่ปัจจุบันข้อจำกัดเหล่านั้นหมดไป เราจึงต้องเดินหน้าเพื่อสร้างความเข้าใจ ปูพื้นฐานการใช้ประโยชน์จากกัญชาให้กับประชาชน” นพ.ภูวเดชกล่าว และว่า ที่ผ่านมา

การใช้กัญชาเข้าตำรับยาแผนไทยพบว่าได้ผลดีมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มโรคที่รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันไม่ได้ผล เช่น พาร์กินสัน ลมชัก ปวดปลายประสาท โรคนอนไม่หลับ โรคสะเก็ดเงิน ไปจนถึงการรักษาอาการผู้ป่วยระยะประคับประคองที่เกิดจากมะเร็ง ให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีชีวิตที่ดีขึ้น ลดการเจ็บปวดเพื่อร่างกายสู้กับโรคได้

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.ภูวเดชบอกว่า การใช้กัญชากับโรคต่างๆ มีความปลอดภัยมากและได้รับการยอมรับ นับเป็นเวลากว่า 3 ปี ที่สามารถทำให้ผู้ป่วยเกือบแสนรายเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยยากัญชาที่มีคุณภาพและความปลอดภัย และช่วยสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ เนื่องจากมีการจัดระบบและพัฒนามาตรฐานตั้งแต่การปลูก การผลิต การสกัด และการใช้ ทำให้มีกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกกัญชาให้กับสถานพยาบาลในสังกัด สธ.กว่า 350 กลุ่ม และปลูกกัญชงกว่า 1,500 กลุ่ม สธ.จึงเดินหน้า อุ่นเครื่อง ภายใต้แนวคิดปลดล็อกกัญชา-กัญชง สร้างสุขภาพสร้างรายได้จัดมหกรรมสัญจรทั่วไทยใน 12 เขตสุขภาพ

“ประชาชนเข้าร่วมงานฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเราเตรียมคำตอบในทุกคำถามของประชาชน ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ให้ตนเองและประเทศชาติ โดยอุ่นเครื่องครั้งที่ 1 เขตสุขภาพที่ 9 จ.สุรินทร์ ในวันที่ 4-6 มีนาคม 2565 และจัดต่อเนื่องจนครบ 12 เขตสุขภาพ ตามไทม์ไลน์จะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมนี้ ให้สอดรับกับ พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ที่กำลังจะคลอดออกมาภายใน 120 วัน เพื่อให้ประชาชนทุกคนเตรียมความพร้อมไปพร้อมๆ กัน ก้าวไปพร้อมๆ กัน” นพ.ภูวเดชกล่าว

สำหรับรูปแบบการจัดงานของแต่ละเขตสุขภาพนั้น ผู้ช่วยปลัด สธ.กล่าวว่า หลักๆ แบ่งออกเป็น 3 โซน รวมมากกว่า 40 บูธ ประกอบด้วย

โซนที่ 1 กัญชาทางการแพทย์ ให้ความรู้ประชาชนชนว่าจะนำมาใช้อย่างไรเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้จากบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน รวมถึงการให้ความรู้ โทษของกัญชาเมื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดด้วย ซึ่งต้องย้ำว่า พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ที่กำลังจะออกมาใน 120 วันนี้ไม่ส่งเสริมให้มีการใช้เพื่อนันทนาการ ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมาย เราก็จะมีการให้ความรู้ในส่วนนี้อย่างครอบคลุม

โซนที่ 2 ความรู้ปลูกกัญชา สธ.ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ในเรื่องการเพาะเมล็ดกัญชา วิธีการปลูกให้ได้ผล นอกจากนั้น สถาบันกัญชาทางการแพทย์ กรมต่างๆ ในสังกัด สธ.จะผนึกกำลังกันมาให้ความรู้ประชาชน เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะนำองค์ความรู้เรื่องการตรวจวิเคราะห์สารทีเอชซี (THC) และสารซีบีดี (CBD) จากกัญชา

“เนื่องจากสารสกัดกัญชาที่มีความเข้มข้นทีเอชซี มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ยังอยู่ในบัญชีรายชื่อยาเสพติดให้โทษอยู่ ฉะนั้น เราต้องขยายความเข้าใจกับประชาชนในการนำมาใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็พร้อมให้คำปรึกษาประชาชนในด้านกฎหมายทุกเรื่อง ตั้งแต่การจดแจ้งเพื่อปลูกในครัวเรือน การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะต้องขอเลขที่ใบจดแจ้ง หรือใบอนุญาตจาก อย. เช่น แปรรูปอาหาร เครื่องสำอาง สารสกัด เป็นต้น”นพ.ภูวเดชกล่าวย้ำ

ผู้ช่วยปลัด สธ.กล่าวว่า และโซนที่ 3 ความร่วมมือด้านเงินทุน ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินชั้นนำหลายแห่งเข้ามาส่งเสริมเงินทุนให้ประชาชนนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์กัญชาต่างๆ เพื่อสร้างเศรษฐกิจ โดยคาดหวังว่าประชาชนที่มาร่วมมือจะได้รับความรู้ ความเข้าใจ ตั้งแต่การลงมือปลูกครบไปจนถึงการลงทุนทำธุรกิจ

“ภายในงานมหกรรมกัญชาสัญจรที่จัดขึ้นเราจะมีต้นแบบผู้ประสบความสำเร็จจากการลงมือดำเนินงานเกี่ยวกับกัญชาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น วิสาหกิจชุมชน ตัวแทนภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์ ทั้งในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเห็นแนวทางที่ใกล้ตัว นำมาปรับใช้ได้ง่าย และจากนอกพื้นที่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดสิ่งใหม่ๆ เราจึงตั้งความหวังว่า ประชาชนทุกคนที่มีคำถามว่า หลังจาก 120 วัน ที่มีผลบังคับใช้ในกฎหมายแล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เมื่อมาร่วมในงานนี้เราจะมีคำตอบให้
ทุกอย่าง” นพ.ภูวเดชกล่าว

นพ.ภูวเดช กล่าวอีกว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องเริ่มจากความกล้า เกิดเป็นความเชื่อมั่น เชื่อใจที่จะใช้ ขณะเดียวกันการปลูกกัญชาให้ได้ผลดีเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน ดังนั้น องค์ความรู้ต่างๆ มีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้คนที่ลงมือ ลงแรง แล้วเห็นผลสำเร็จ อย่างภาคธุรกิจหลายแห่งเริ่มศึกษากัญชา กัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ในแง่ธุรกิจ ผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานได้รับการยอมรับในตลาดโลก ก็จะมีการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในงานด้วย อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าปลดล็อกกัญชาเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอย่างเท่าเทียมไม่ใช่ประโยชน์เพียงคนใดคนหนึ่ง ความร่วมมือที่ต้องเกิดขึ้นทุกภาคส่วน ตั้งแต่กระทรวงเกษตรฯ ช่วยเรื่องการปลูก กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหนุนเสริมธุรกิจของประชาชน และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นเป็นเส้นทางกัญชาในอนาคต

“ตลาดกัญชามีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงอยู่แล้ว ซึ่งภายหลังที่ สธ.เดินหน้าปลดล็อกกฎหมายก็คาดหวังอย่างยิ่งว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าในตลาดกัญชา ทั้งในแง่เพื่อต้นทุนสุขภาพของประชาชนที่ดีขึ้น มีสมุนไพรครัวเรือนใช้ในการปลูกเพื่อดูแลสุขภาพ ส่วนแง่ของการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น นำกัญชาไปประกอบอาหารเพิ่มรสชาติ ก็เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น เพิ่มมูลค่าของสินค้านั้นๆ เราคิดว่าส่วนนี้ทั้งหมดจะเกิดขึ้นเพิ่มพูนอย่างประเมินค่าเป็นตัวเลขไม่ได้” นพ.ภูวเดชกล่าว

ผู้ช่วยปลัด สธ.กล่าวด้วยว่า การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในการแพทย์ เป็นการเปลี่ยนมุมมองใหม่ของสังคมจากเดิมที่เป็น “ยาเสพติด” ตอนนี้กลับมาเป็น “สมุนไพรทั่วไป” เราทราบกันดีว่าจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้กับประชาชน โดยมั่นใจว่ามหกรรมที่จะจัดใน 12 เขตสุขภาพ จะเป็นส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน

“เพราะที่ผ่านมาเราอาจมองว่ายาเสพติด ทุกอย่างเป็นโทษทั้งหมด แต่หากเราพิจารณาถี่ถ้วนจะพบว่าหากใช้ถูกต้องก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล ดังนั้น หากเราสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นได้ เราคิดว่าคงใช้เวลาไม่นานในการเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจชาติต่อไป” นพ.ภูวเดชกล่าว

ในท้ายที่สุด นพ.ภูวเดช ยังย้ำอีกว่า ด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19 สำหรับมหกรรมสัญจรนี้ สธ.ได้จัดในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ ทางพื้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จะประชาสัมพันธ์ในการลงทะเบียนเพื่อจัดกลุ่ม จัดรอบให้ประชาชนทยอยหมุนเวียนกันมาเข้าร่วมงาน ในการจัดนี้เป็นการนำร่อง 12 เขตสุขภาพ

เชื่อมั่นว่า กระแสตอบรับจะต้องเห็นเป็นรูปธรรม เพราะยุคสมัยปัจจุบันประชาชนมีความสนใจในด้านสุขภาพมากขึ้น จึงขอเชิญชวนประชาชนติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้พลาดกิจกรรมนี้!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image