ศบค.ห่วงศักยภาพการเข้าสู่ระบบรักษา มา รพ.ตอนอาการรุนแรงแล้ว จับตาถกชุดใหญ่ 18 มี.ค.นี้

ยอดเสียชีวิต 69 ราย เอทีเคติดเชื้อ 1.5 หมื่นราย จับตาประชุม ศบค.ใหญ่ 18 มี.ค.นี้ ผ่อนคลายกิจการ-กิจกรรม

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 14 มีนาคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 22,130 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 267 ราย จากเรือนจำ 69 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 27 ราย เป็นผู้ที่มีผลตรวจเอทีเคเป็นบวก 15,650 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 983,520 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 23,508 ราย รวมรักษาหายป่วยสะสม 2,957,288 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 225,889 ราย พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก 1,353 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 453 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 69 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 2,080 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า 10 จังหวัดที่ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด อันดับ 1 ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) 3,060 ราย อันดับ 2 นครศรีธรรมราช 1,268 ราย อันดับ 3 ชลบุรี 1,117 ราย อันดับ 4 สมุทรปราการ 935 ราย อันดับ 5 นนทบุรี 757 ราย อันดับ 6 สมุทรสาคร 666 ราย อันดับ 7 พระนครศรีอยุธยา 609 ราย อันดับ 8 ปทุมธานี 588 ราย อันดับ 9 นครปฐม 573 ราย และอันดับ 10 ราชบุรี 540 ราย สำหรับ กทม.มีรายงานว่า มีคลัสเตอร์ใหม่คือคลัสเตอร์ก่อสร้างที่พบในเขตคลองสามวา และ 5 เขตที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด คือ 1.หลักสี่ 470 ราย 2.บางซื่อ 187 ราย 3.หนองแขม 67 ราย 4.วัฒนา 44 ราย และ 5.ดินแดง 38 ราย ขณะที่ภาพรวมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงวันที่ 13 มีนาคม เข็มที่ 1 สะสม 54,415,190 โดส เข็ม 2 สะสม 49,990,678 โดส และเข็ม 3 สะสม 21,752,511 โดส

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับรายงานผู้เสียชีวิต 69 ราย แบ่งเป็น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 49 ราย โดยแบ่งเป็น กทม. 5 ราย กาญจนบุรี นครปฐม จังหวัดละ 2 ราย ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 ราย สมุทรสงคราม 3 ราย นครราชสีมา มุกดาหาร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ขอนแก่น จังหวัดละ 1 ราย กาฬสินธุ์ 3 ราย เชียงราย 3 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย พะเยา อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ จังหวัดละ 1 ราย นครศรีธรรมราช ภูเก็ต จังหวัดละ 2 ราย กระบี่ สุราษฎร์ธานี ปัตตานี และสงขลา จังหวัดละ 3 ราย พังงา พัทลุง จังหวัดละ 1 ราย ชลบุรี 4 ราย พระนครศรีอยุธยา ระยอง และสมุทรปราการ จังหวัดละ 3 ราย ลพบุรี อ่างทอง สระแก้ว จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี จังหวัดละ 1 ราย

Advertisement

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 69 ราย มี 61 ราย คิดเป็น 89% ที่ยังไม่มีประวัติได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างมีประสิทธิภาพ 26 ราย ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มที่ 1 และมี 8 รายที่พบว่าได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว แต่ทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกังวล เพราะหากสำรวจการให้บริการวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายหลักปี 2565 มีประชากรอายุเกิน 60 ปี เป้าหมายทั้งประเทศอยู่ที่ 12,704,543 ราย ซึ่งขณะนี้ได้รับวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว 83.3% เข็ม 2 78.8% เข็ม 3 32% จึงขอความร่วมมือให้พาผู้สูงอายุไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะได้ไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ได้อย่างสบายใจ

“นอกจากนี้สาธารณสุขค่อนข้างโฟกัสไปในส่วนของผู้ป่วยปอดอักเสบที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในวันที่ 13 มีนาคม กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 191 ราย มีเปอร์เซ็นต์ครองเตียง 33.30% สมุทรปราการ มีผู้ป่วย 80 ราย ครองเตียง 42% นครศรีธรรมราช ป่วย 56 ราย ครองเตียง 15.30% นครราชสีมา ป่วย 53 ราย ครองเตียง 17.30% นนทบุรี ป่วย 47 ราย ครองเตียง 46.60% สุราษฎร์ธานี ป่วย 47 ราย ครองเตียง 51.20% ภูเก็ต ป่วย 42 ราย ครองเตียง 57.80% ชลบุรี ป่วย 35 ราย ครองเตียง 50.60%

“เชียงใหม่ ป่วย 35 ราย ครองเตียง 16.70% อุตรดิตถ์ ป่วย 35 ราย ครองเตียง 22.30% โดยสิ่งที่ศบค.กังวลคือ 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และชลบุรี ที่มีการใช้เตียงเกิน 50% ดังนั้น นี่คือตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขใช้เป็นมาตรฐาน เราไม่สามารถดูได้เพียงจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่เราต้องมั่นใจว่าผู้ติดเชื้อเหล่านี้จะต้องปลอดภัย จะต้องลดจำนวนผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต” พญ.อภิสมัยกล่าว

Advertisement

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า วันที่ 18 มีนาคม ศบค.ชุดใหญ่จะมีการประชุมเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในปัจจุบัน และหากเทียบความรุนแรงสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงเวลาสูงสุดของเดือนสิงหาคม ปี 2564 กับเดือนมีนาคม ปี 2565 มีความใกล้เคียงกัน แต่ตอนนี้เป็นเชื้อโอมิครอน พบว่าผู้ที่ครองเตียงระดับ 2-3 ในปีที่แล้วขึ้นไปที่ 5,000 กว่าราย ขณะที่ตอนนี้อยู่ที่ 900-1,000 ราย จะเห็นว่าสิ่งที่ ศบค.จะต้องพิจารณาควบคู่กันคือศักยภาพของการเข้าสู่ระบบการรักษา อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำประชาชนให้รีบเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็ว

“มีตัวเลขข้อมูลผู้เสียชีวิตพบว่าค่ามัธยฐานจากวันที่พบว่าติดเชื้อจนกระทั่งเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 5 วัน ซึ่งหมายความว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 15 ราย ที่ได้รับรู้ว่าตนเองมีการติดเชื้อล่าช้า และทำให้เข้าสู่ระบบการรักษาที่ล่าช้า บางรายรับเชื้อและไม่ทราบว่าตนเองป่วย จนกระทั่งเข้าสู่ระบบการรักษา 1-3 วันก็เสียชีวิต ซึ่งมีมากถึง 15 ราย และเมื่อมาถึงโรงพยาบาลด้วยอาการที่รุนแรง ทีมบุคคลากรทางการแพทย์อาจจะไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยเหล่านี้ได้

“ดังนั้น ต้องเน้นย้ำไปที่ประชาชนว่าเมื่อมีอาการ ไอ มีไข้ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ หรือแม้กระทั่งไม่มีอาการแต่มีความสงสัย เช่น มีการสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง นอกจากตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้ว ให้ช่วยสังเกตอาการคนรอบข้าง หากมีอาการให้รีบเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด โดยติดต่อไปที่หมายเลข 1330 สปสช. ซึ่งภายใน 6-24 ชั่วโมง ทางเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับและทำการจับคู่สถานพยาบาลในการรักษา” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ศบค.ขอความร่วมมือประชาชนว่าหากเป็นผู้ป่วยสีเขียว ไม่มีอาการรุนแรง ให้เข้าสู่ระบบ 1330 ปกติ เพื่อสงวนเตียงสีเหลือง สีแดง ให้ผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ ที่ให้โทรสายด่วน 1169 โดยมีเกณฑ์การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ สำหรับ USEP Plus โดยผู้ป่วยตรวจที่มีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR มีผลเป็นบวก ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ 1.หัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกลั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก ภาวะโคม่า มีอาการซึมลงเมื่อเทียบกับระดับความรู้ตัวเดิม หรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก 2.มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสนานกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ ปริมาณออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% หรือมีโรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลพินิจของแพทย์ หรือในเด็กหากมีอาการหายใจลำบาก ดื่มนมหรือทานอาหารได้น้อยลง

พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า 3.มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรง หรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่อ หรือเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1 พันเซลล์ต่อไมโครลิตร อื่นๆ หรือตามดุลพินิจของผู้คัดแยก กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำว่า ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด ไม่ควรรอ โดยช่องทางแบบผู้ป่วยนอกอย่างใกล้ชิด หรือ OPD ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ แต่สำหรับผู้ป่วยสีเขียวเก็บเตียงให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image