ตะลึง เปิดกล้องป่าแม่วงก์ พบเสือโคร่ง 14 ตัว วัวแดงที่หายไป 40 ปี วันนี้กลับมาแล้ว

ตะลึง เปิดกล้องป่าแม่วงก์ พบเสือโคร่ง 14 ตัว วัวแดงที่หายไป 40 ปี วันนี้กลับมาแล้ว

เมื่อวันที่ 9 เมษายน นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เปิดเผยว่า จากงานวิจัยโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ที่ทางอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ได้ร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) โดย ดร.รุ้งนภา พูลจำปา หัวหน้าโครงการ

โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีกรอบระเบียบวิธีวิจัยซึ่งประกอบด้วย การติดตามประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าโดยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap Survey) การปรับปรุงและฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและแผนการปล่อยสัตว์กีบคืนสู่ธรรมชาติ (Wildlife Reintroduce) การส่งเสริมระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ของชุมชนและโรงเรียนรอบพื้นที่

วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์การกระจายของประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่ศึกษา เพื่อดำเนินการปรับปรุงและฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมทั้งดำเนินการปล่อยคืนสัตว์กีบขนาดใหญ่สู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วนในการจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อศึกษาวิจัยการกระจายและความมากมายของประชากรของเสือโคร่งและเหยื่อ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการทางด้านงานป้องกันและการจัดการสัตว์ป่าในพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ทั้งทางด้านทฤษฎีและด้านการปฏิบัติงานให้ได้มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการลาดตระเวน และเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน

Advertisement

นายเนรมิตกล่าวว่า ผลจากการติดตามประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าโดยกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap Survey) ที่ได้ติดตั้งกล้องไว้ จำนวน 94 จุด พบการกระจายของเสือโคร่งตัวเต็มวัยกระจายเต็มพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จำนวน 14 ตัว เป็นเพศผู้ 6 ตัว เพศเมีย 8 ตัว และลูกเสือโคร่ง 2 ตัว เฉลี่ยประมาณ 54.50% ของจำนวนจุดติดตั้ง คิดเป็นความหนานแน่น (ตัว/100 ตร.กม.) เท่ากับ 0.63 (≈ 1) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ทั้งหมด 35 ชนิด เช่น ช้างป่า เสือดาว เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว หมีหมา หมาใน หมาจิ้งจอก ชะมดหางปล้อง อีเห็นหน้าด่าง วัวแดง กระทิง กวางป่า เลียงผา หมูป่า เก้งธรรมดา เป็นต้น ซึ่งจัดจำแนกอยู่ในบัญชี IUCN Red List ด้วย

Advertisement

 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยได้เข้าเก็บ เมมโมรี่กล้องดักถ่ายที่ติดตั้งไว้ในพื้นที่ ที่ถ่ายภาพแม่เสือโคร่ง รหัส MKF13 พร้อมด้วยลูกเสือ 2 ตัว ไว้ได้ ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้ไม่บ่อย อีกทั้งภาพวัวแดงที่กลับมาตั้งถิ่นฐานอาณาเขตหากินกระจายพันธุ์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หลังจากที่หายไปจากป่าแม่วงก์นานกว่า 40 ปี เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ กอรปกับนโยบายสำคัญของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเสนอป่าผืนนี้ให้ผนวกเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติร่วมกับทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ดังคำกล่าวที่ว่า “แม่วงก์ป่าแห่งความหวัง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image