‘นากัญชา’ นวัตกรรมเกษตรแปลงใหม่

‘นากัญชา’ นวัตกรรมเกษตรแปลงใหม่

หากนับวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติดมาใช้รักษาทางการแพทย์และเพื่อทางธุรกิจจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ก็เหลือเวลาแห่งการรอคอยไม่ถึง 2 เดือน ที่ประชาชนสามารถจดแจ้งให้รัฐทราบ ปลูกใช้ในครัวเรือนเพื่อการรักษาโรคที่น่าสนใจสำหรับกัญชาทางการแพทย์ มีการขยับขยายพื้นที่เพาะปลูกด้วยการใช้พื้นที่นาข้าวมาปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แบบโรงปิด (Indoor Lighting medicalgrade) หรือเกรดทางการแพทย์ ที่โรงเพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์ วิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพบ้านพนมทวน เลขที่ 199 หมู่ 9 ต.พนมทวน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ประเดิมปลูกไปแล้วจำนวน 2,000 ต้น

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยทางวิสาหกิจชุมชนทั้ง 400 แห่งได้ทำประชามติร่วมกันถึงข้อตกลง แนวทางวิธีการปฏิบัติทางข้อกฎหมาย และทางการตลาดในการส่งเสริมรายได้ การให้ความรู้นวัตกรรมการปลูกกัญชาที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และเตรียมนำผลผลิตกัญชาสู่สายตาชาวโลกในวันที่ 17-20 กรกฎาคม 2565 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในงาน IBSC ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มนักลงทุนและกลุ่มผู้ผลิตยาจากทั่วทุกมุมโลก

“วิศารท์ พจน์ประสาท” ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนิคมสมุนไพรสัมพันธ์ตะวันตก กล่าวถึงที่ตั้งของวิสาหกิจชุมชนฯ ว่า มีลักษณะทางกายภาพเป็นทุ่งนาข้าว ชาวบ้านมีอาชีพหลักในการทำนา แต่ผลผลิตไม่มี รายได้ไม่มั่นคง พบว่าบริเวณดังกล่าวมีพื้นที่นาข้าวจำนวนกว่า 100 ไร่ และของ “วิศรุต ฤทธิเลิศ” ประธานวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพบ้านพนมทวน มีพื้นที่ดินปลูกข้าวประมาณ 100 ไร่ คิดค่าเฉลี่ยรายได้เมื่อตอนทำนาข้าวใน 1 ปี ทำนา 2 ครั้ง จำนวน 1 ไร่ ได้ข้าวเปลือกประมาณ 600 กิโลกรัม

ทำนา 1 ครั้งได้ 1,200 กิโลกรัม ราคาขายข้าว 12,500 บาทต่อ 1 ตัน จะมีรายได้ 15,000 บาท/ 1 ปี/ 1 ไร่ ตอนนี้ทำนา 10 ไร่จะได้รับเงินประมาณ 150,000 บาท/ปี ทำให้มีรายได้เมื่อหักต้นทุนทำนาแล้วไม่คุ้มค่า

Advertisement

ประกอบกับเรื่องของการปลูกกัญชาทางการแพทย์ จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงแนวการทำนา เป็น “นากัญชา” แทน คือการนำเอานาข้าวสู่นากัญชา และจะทำเป็นนิคมกัญชา เมื่อลองคิดเฉลี่ยการปลูกกัญชา 1 ไร่ จำนวน 1,000 ตัน ผลผลิตได้ช่อดอกประมาณ 1 ขีดแห้ง คาดว่าจะได้ช่อดอกประมาณ 100 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ และหากใช้พื้นที่ 10 ไร่จะปลูกได้ 10,000 ตัน จะมีผลผลิตช่อดอกประมาณ 1,000 กิโลกรัม ขณะที่ราคากลางขององค์การเภสัชกรรมให้ไว้ที่กิโลกรัมละ 45,000 บาท จะมีรายได้ประมาณ 45 ล้านบาทต่อ 1 รอบการปลูก หากทำการปลูก 2 รอบการปลูกจะมีรายได้ประมาณ 90 ล้านบาท นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจนี้น่าสนใจมาก

ยิ่งหากนำเอาใบ ราก กิ่ง ต้น มาขายคาดว่าจะมีผลผลิตอีกประมาณ 1 ต้น จำนวน 5 ขีด ถ้าพื้นที่จำนวน 1 ไร่ จะมี 500 กิโลกรัม ราคาเหมารวม 5,000 บาท/ 1 กิโลกรัม จะมีรายได้
เพิ่มอีก 2.5 ล้านบาทต่อ 1 รอบการปลูก ถ้าปลูกจำนวน 2 รอบ จะเป็นเงิน 5 ล้านบาท ถ้ารวมกันแล้วใน 1 ปีจะมีรายได้โดยประมาณที่ 95 ล้านบาท ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีมาก หากมีการส่งเสริมและรัฐบาลตั้งใจจริง โดยมีสมาชิกในนิคมนากัญชาแล้วประมาณ 20 ราย ที่จะร่วมกันในการทำนาข้าวให้เป็นนากัญชา

วิศารท์กล่าวอีกว่า หากมองในภาพรวมของประเทศในรูปแบบเศรษฐกิจ “กัญชากู้ชาติ” ในเศรษฐกิจระดับมหภาคจะสามารถทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ระดับโลกในพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ในปัจจุบันสหรัฐอเมริกาครองตลาดกัญชาที่ 97% ของทั้งโลก หากมองประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 68.2 ล้านไร่ มีประชากรชาวนา 8 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบรายได้ของชาวนาจะมีรายได้โดยรวม 68.2 ล้านไร่จำนวน 15,000 บาท จะมีรายได้โดยรวมทั้งประเทศประมาณ 1,023,000 ล้านล้านบาท และหากเปลี่ยนแปลงเป็น “นากัญชา” จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีกว่าปัจจุบัน หากคิดเปลี่ยนแปลง 10% ของพื้นที่ทั้งหมดจะมีพื้นที่ไร่ประมาณ 6,820,000 ไร่ (จำนวน 1 ไร่ = 1,000 ตัน จำนวนช่อดอก 100 กิโลกรัม = 1 ขีดต่อ 1 ต้น และใบ 100 x 45,000 = 4,500,000 บาท/ 1 ไร่ และมีส่วนประกอบใบ ราก กิ่งอีกประมาณ 300 กิโลกรัม x 3,000 บาท = 900,000 บาท ดังนั้นจะมีรายได้ประมาณ 5,400,000 บาท/ 1 ไร่) จะมีรายได้ประมาณ 368 ล้านล้านบาท

สำหรับชาวนาที่สนใจจะเปลี่ยนเป็น “นากัญชา” สามารถร่วมลงทะเบียนร่วมกันแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการทำนากัญชา เข้า Inbox ของ Page Facebook ชื่อ “นิคมนากัญชา”

“การปลูกกัญชาแบบ Medical Grade จ.กาญจนบุรี เป็นโมเดลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นกัญชาที่ดีที่สุดในประเทศไทย ยังถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกผลิตกัญชาทางการแพทย์ระดับโลกอีกด้วย” วิศารท์กล่าว

ขณะที่ “วิศรุต ฤทธิเลิศ” ประธานวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพบ้านพนมทวน เปิดเผยว่า พวกเรามีอาชีพเป็นชาวนา เมื่อเกิดปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด การทำนาข้าวราคาไม่แน่นอน ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ราคาต่ำ เพื่อสอดรับกับสังคมสุขภาพ ชาวนาพนมทวนจึงรวมกลุ่มตั้งวิสาหกิจชุมชน เริ่มหาพืชเกษตรตัวใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับชาวนามากขึ้น จึงปรับพื้นที่จากนาข้าวเนื้อที่ 10 ไร่ มาปลูกกัญชาทางการแพทย์

ในส่วนของกลุ่มชาวนาอำเภอพนมทวนได้จัดทำนิคมนากัญชา ร่วมกับชาวบ้านในละแวกนี้จำนวนกว่า 50 ราย เพื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง สร้างรายได้มั่นคงขึ้น ปกติอาชีพทำนาของพวกเราจะมีรายได้ประมาณ 15,000 บาทต่อ 1 ไร่ แต่เมื่อหักค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงแล้วจะเหลือประมาณ 10,000 บาทต่อ 1 ไร่ รายรับไม่พอกับค่าครองชีพ การประกันราคาข้าวก็ไม่แน่นอน จึงรวมตัวกันในกลุ่มของชาวนาอำเภอพนมทวน เพื่อเริ่มโครงการกัญชากู้ชาติในโมเดลเล็กๆ และใช้คำว่า “นิคมนากัญชา” เป็นพนมทวนโมเดล โดยมีวิสาหกิจชุมชนศูนย์อภิบาลด้วยพืชสมุนไพรแห่งริเวอร์แคว เป็นพี่เลี้ยงในการรับซื้อผลิตผลและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนนิคมสมุนไพรสัมพันธ์ตะวันตก

“พวกเราเกษตรกรชาวนาเชื่อว่ากัญชาทางการแพทย์จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ พืชเกษตรสมุนไพรมีผลผลิตที่จะสร้างรายได้แก่เกษตรกรและชาวนาที่พนมทวนมีรายได้มากขึ้นในอนาคต” ประธานวิสาหกิจชุมชนพืชสมุนไพรเพื่อสุขภาพบ้านพนมทวน กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image