โลซินเกาะจิ๋วมหัศจรรย์ สวรรค์ใต้น้ำแห่งใหม่

โลซินเกาะจิ๋วมหัศจรรย์ สวรรค์ใต้น้ำแห่งใหม่

เกาะโลซิน ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของ ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี

ตัวเกาะโผล่พ้นน้ำมาประมาณ 10 เมตร ฐานกองหินใต้ผืนน้ำกว้างประมาณ 50 ตารางเมตร รวมพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางเมตร บนเกาะมีแต่หินไม่มีคนอยู่อาศัย ไร้ต้นไม้และหาดทราย มีเพียงประภาคารตั้งอยู่

เป็นเกาะที่เล็กที่สุดในประเทศไทย แต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งด้านความมั่นคง ด้านพลังงาน และการท่องเที่ยว

ก่อนหน้านี้ไทยมีข้อพิพาทกับมาเลเซีย เรื่องประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งของตนออกมา 200 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 370 กิโลเมตร ทำให้เขตน่านน้ำรอยต่อไทย-มาเลเซีย มีพื้นที่ทับซ้อนกันอย่างกว้างขวาง

Advertisement

ไทยและมาเลเซียเปิดเจรจาเมื่อปี 2515 โดยทางมาเลเซียใช้การแบ่งเขตทางทะเลด้วยเขตไหล่ทวีปตามหลักสากล ทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบอย่างมาก หากเป็นเช่นนั้น พื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติจะเป็นของมาเลเซียทั้งหมด

แต่ เกาะโลซิน เป็นพระเอกมาช่วย โดยไทยใช้เป็นจุดอ้างอิงในการประกาศน่านน้ำอาณาเขตจากเกาะโลซิน ออกไป 200 ไมล์ทะเล โดยไทยยืนยันว่าก่อสร้างประภาคารบนเกาะหินแห่งนี้เพื่อแสดงอาณาเขตมานานแล้ว

ตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ระบุความหมายของเกาะว่า คือแผ่นดินที่มีน้ำล้อมรอบ ซึ่งมีความหมายรวมถึงเกาะที่เป็นหิน หรือกองหินโผล่น้ำเข้าไปด้วย ทำให้ฝ่ายมาเลเซียต้องยอมจำนน นั่นหมายความว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยครอบคลุมพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลด้วย

Advertisement

ต่อมาปี 2521 ไทยและมาเลเซียเจรจาตกลงกำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลดังกล่าว ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area หรือ JDA) ครอบคลุมพื้นที่ 7,250 ตร.กม. โดยตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกัน และแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่งเป็นเวลา 50 ปี ทำให้ เกาะโลซิน กลายเป็น กองหิน (เกาะจิ๋ว) แสนล้าน

นอกจาก เกาะโลซิน ทำให้ไทยได้ประโยชน์มหาศาลจากแหล่งก๊าซธรรมชาติแล้ว ใต้ทะเลของเกาะโลซินกว่า 100 ไร่ ก็มีความอุดมสมบูรณ์ของปะการังและฝูงปลานานาชนิด รวมถึงฉลามวาฬ ก็แวะเวียนมาบ่อยครั้ง เป็นสวรรค์อีกแห่งของนักดำน้ำ

แต่เมื่อปี 2564 มีเศษอวนขนาดยาว 200 เมตร กว้าง 50 เมตร ติดแนวปะการังบริเวณเกาะโลซิน สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศปะการังประมาณ 550 ตารางเมตร มีเก็บกู้ขึ้นมามีน้ำหนักมากถึง 800 กิโลกรัม

กลุ่มอนุรักษ์ทางทะเลจึงเรียกร้องให้ เกาะโลซิน เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็รับเรื่องไปพิจารณาและเร่งผลักดัน กระทั่ง เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ก็เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวง ทส.กำหนดให้บริเวณ เกาะโลซินเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 28 กรกฎาคม 2565

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทส. แจกแจงถึงความสำคัญและความจำเป็นในการประกาศให้ เกาะโลซิน เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเล ว่า ในฐานะนักดำน้ำและผู้บริหารที่ให้ความสำคัญและเดินหน้าป้องกันรักษาทรัพยากรปะการังของไทยมาโดยตลอด

ครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ผมพยายามเร่งรัด ผลักดัน ให้ประกาศกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองแนวปะการังบริเวณรอบเกาะโลซิน โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบกฎกระทรวง กำหนดให้บริเวณ เกาะโลซิน เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

วราวุธ ยืนยันว่า พื้นที่บริเวณเกาะโลซินเป็นพื้นที่ที่ความสำคัญและเปราะบางมาก อย่างช่วงกลางปี 2564 เรามีบทเรียนจากการพบอวนประมงขนาดยักษ์ติดบริเวณแนวปะการังที่เกาะโลซิน รวมน้ำหนักอวนกว่า 800 กิโลกรัม ปกคลุมแนวปะการังกว่า 2,750 ตารางเมตร สร้างความเสียหายรุนแรงกว่า 550 ตารางเมตร จนเกิดปะการังฟอกขาว ปะการังซีดจางบางส่วน เหตุการณ์เหล่านี้ ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะเป็นที่เกาะโลซิน หรือพื้นที่อื่นๆ

พื้นที่เกาะโลซิน นับเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลแห่งที่ 2 ต่อจากพื้นที่เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช ที่ประกาศไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 และเร่งรัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ดำเนินการประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญแห่งอื่นๆ โดยเร็ว อีกทั้งฝากให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส.กำกับการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

ผมอยากจะฝากบอกพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวว่ามาตรการทางกฎหมาย เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ในการกำกับและบังคับใช้เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด แต่จิตสำนึกและความร่วมมือของทุกคน คือหัวใจสำคัญและเป็นหนทางที่จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคงอยู่อย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไปตราบใดที่เรายังขาดจิตสำนึก ไม่ว่าเราจะมีกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงแค่ไหน หรือมีเครื่องไม้เครื่องมือในการตรวจกำกับที่ดีเพียงใดก็จะไม่สามารถรักษาทรัพยากรของชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืนได้ ตลอดไป วราวุธฝากถึงประชาชนและนักท่องเที่ยว ว่าต้องมีจิตสำนึกในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ขณะที่ โสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เสริมว่า พื้นที่โดยรอบเกาะโลซิน พบปะการังหลากหลายชนิด ทั้งปะการังแข็ง ปะการังอ่อน และกัลปังหา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของฉลามวาฬ รวมทั้งปลาน้อยใหญ่อีกกว่า 116 ชนิด และหอยกว่า 54 ชนิด

กฎกระทรวงดังกล่าว กำหนดบริเวณพื้นที่บังคับไว้ 2 บริเวณ โดยมีกิจกรรมที่ห้ามดำเนินการที่แตกต่างกัน ดังนี้ บริเวณที่ 1 บริเวณแผ่นดินบนเกาะโลซินและพื้นที่ทะเลรอบเกาะเนื้อที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร ระยะทางห่างรอบเกาะจากฝั่งประมาณ 500 เมตร ห้ามก่อมลพิษ ห้ามกระทำความเสียหายต่อปะการัง สัตว์น้ำ ซากปะการัง กัลปังหา ห้ามทอดสมอเรือ ห้ามประกอบการประมง ห้ามก่อสร้าง ห้ามนำสัตว์หรือพืชจากที่อื่นเข้าไปในบริเวณ และห้ามขุดเจาะและทำเหมืองแร่ เป็นต้น

บริเวณที่ 2 เป็นพื้นที่ในทะเล ห่างจากเกาะประมาณ 6 กิโลเมตร เนื้อที่รวมประมาณ 143 ตารางกิโลเมตร ห้ามก่อมลพิษ ห้ามกระทำการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแนวปะการัง สัตว์ทะเล และซากปะการัง ห้ามขุดเจาะและทำเหมืองแร่ ห้ามถมทะเลและขุดลอกร่องน้ำ และทำประมงยกเว้นการใช้เบ็ดมือ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแจกแจงรายละเอียดของกฎกระทรวง

สำหรับกิจกรรมอื่น เช่น การดำน้ำ และการท่องเที่ยว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะกำหนดแนวทางและมาตรการ รวมถึงแผนการบริหารจัดการในพื้นที่ต่อไป และจะประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนชายฝั่ง เพื่อร่วมดำเนินการตามมาตรการที่บังคับด้วย

ทั้งนี้ บทลงโทษหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวทราบโดยทั่วกัน อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งย้ำเตือน

การประกาศให้บริเวณ เกาะโลซิน เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยดูแลป้องกันทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ให้คนรักทะเลได้อุ่นใจและเพื่อเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image