หมอธีระวัฒน์ ชี้ ‘ฝีดาษลิง’ โอกาสติดจากคนสู่คนต่ำ ยังไม่ควรตื่นตระหนกมาก

หมอธีระวัฒน์ ชี้ ‘ฝีดาษลิง’ โอกาสติดจากคนสู่คนต่ำ ยังไม่ควรตื่นตระหนกมาก

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโรคฝีดาษลิง ที่พบผู้ติดเชื้อหลายรายในต่างประเทศว่า โรคฝีดาษลิง หรือ monkey pox (ฝีดาษวานร) ยังไม่ควรตื่นตระหนกมาก เพราะ

1.ไวรัสจะแพร่ต่อเมื่อคนติดเชื้อเริ่มมีอาการแล้ว ได้แก่ ไข้ปวดหัว ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต และที่สำคัญก็คือมีผื่นที่ปรากฏเห็นได้ชัด ที่หน้า ที่แขน และที่มือ หลังจากเริ่มอาการป่วยไม่นาน

2.ความสามารถในการติดจากคนสู่คน ต่ำกว่า small pox ต้นตระกูลมากมาย

3.ความรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตแม้ว่าโดยทั่วไปจะถือว่าน้อยกว่า 10% แต่แท้จริงแล้วต่ำมากประมาณ 1% หรือมากกว่านั้นนิดหน่อย

Advertisement

4.ไวรัสตัวนี้เป็น DNA ดังนั้นความสามารถที่จะมีการแปรผันรหัสพันธุกรรมเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่แบบโควิดนั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย 5.การติดเชื้ออยู่ที่การสัมผัสใกล้ชิด ฝอยละออง จากการไอ จาม น้ำลาย จากคนติดเชื้อที่มีอาการแล้ว

และกรณีที่ติดจากสัตว์ จะเป็นจากการสัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสกับเนื้อ หรือสิ่งคัดหลั่งเลือด เวลาที่ทำอาหาร เช่น แอฟริกา เป็นต้น อย่ากลัวสัตว์มาก เพราะในกรณีนี้ในประเทศต่างๆ คนติดก่อนและปล่อยไปให้สัตว์ (ในการเกิดโรคเป็นกระจุก หลาย 10 ปีที่ผ่านมา ในแอฟริกา เป็นจากสัตว์มาคน และคนสู่คน)

6.การติดเชื้อเป็นกระจุกเล็กๆ มีมาในอดีตหลาย 10 ปีที่แล้ว เช่นในสหรัฐ เป็นต้น

Advertisement

7.วัคซีนฝีดาษที่พวกเราสมัยก่อนเคยได้รับเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว แม้ว่าจะได้ผลกับ monkey pox ก็ถือเป็นวัคซีนที่มีผลข้างเคียงพอสมควร โดยเฉพาะการเกิดสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันแปรปรวนและมีความรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ถึง 50% และวัคซีนรุ่นใหม่ถึงมีการพัฒนาแต่ก็ไม่ได้ใช้แพร่หลายเนื่องจากตัวโรคเองนั้นไม่ได้มีความน่ากลัวรุนแรงแพร่กระจายในวงกว้างแบบฝีดาษ

8.การรักษายังคงเป็นการประคับประคองตามอาการแม้ว่าจะมียาที่ใช้ในยุโรป แต่เป็นการป้องกันไม่ให้มีการแพร่จากคนที่ติดเชื้อออกไปมากกว่า

“สรุปสั้นๆ ก็คือการป้องกันตัวขณะนี้ต่อโควิด-19 จะได้ผลเช่นเดียวกันกับฝีดาษวานร สวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาสุขอนามัย เมื่อตนเองไม่สบาย มีไข้ปวดเมื่อย อย่าอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่น และถ้ามีอาการหนักขึ้นปรึกษาแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ของเราเตรียมพร้อมในการวินิจฉัยฝีดาษวานรเรียบร้อยแล้ว” ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image