กรมบาดาลพบแหล่งน้ำใหม่ภูเก็ต30บ่อให้น้ำ 25-30 ลบ.ม.ต่อ ชม. ชี้ จะไม่ขาดน้ำอีกต่อไป

กรมน้ำบาดาล ขนเครื่องเจาะ ลงเกาะภูเก็ต พบแหล่งน้ำใหม่ เต็มศักยภาพ 30 บ่อ ให้น้ำ 25-30 ลบ.ม.ต่อ ชม. ชี้ ภูเก็ตไม่ขาดน้ำอีกต่อไป

กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจพบแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่บนเกาะภูเก็ต เตรียมพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่เศรษฐกิจภูเก็ต รวมถึงใช้เป็นต้นแบบการศึกษาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่หมู่เกาะอื่นๆ ต่อไป

วันที่ 26 พฤษภาคม นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เปิดตัวโครงการสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึก เพื่อการบริหารจัดการ จังหวัดภูเก็ต เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชากรพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้แทนองค์กรส่วนท้องถิ่น เข้าร่วม

นายศักดิ์ดากล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ จ.ภูเก็ต โดยมติที่ประชุมเสนอให้สำรวจ และประเมินศักยภาพ น้ำบาดาลในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในพื้นที่เศรษฐกิจภูเก็ต ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจัดทำโครงการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว

Advertisement

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวว่า จ.ภูเก็ต มีลักษณะเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่รวมกว่า 543 ตารางกิโลเมตร ลักษณะพื้นที่เป็น ภูเขา และหาดทรายที่สวยงาม ซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการการท่องเที่ยว ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก และ จ.ภูเก็ต ยังมีภาคเกษตรกรรมที่ครอบคลุมไปยังพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะด้วย และจากการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ส่งผลต่อความต้องการในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทรัพยากรน้ำ ถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เป็นปัจจัยในการพัฒนา แต่ด้วยระบบการบริหารจัดการน้ำและแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่มีจํากัด จึงทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคขึ้น

Advertisement

นายศักดิ์ดากล่าวว่า ดังนั้น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่จึงเป็นภารกิจสำคัญ ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศ เข้ามาดำเนินงาน ภายใต้โครงการ “สำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึก เพื่อการบริหารจัดการ จ.ภูเก็ต” และเมื่อแหล่งน้ำคือปัจจัยในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จึงได้เริ่มการวางแผนงานเพื่อสำรวจธรณีฟิสิกส์ สำรวจธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา เจาะบ่อสำรวจ เจาะบ่อผลิต และเจาะสำรวจชั้นน้ำบาดาลระดับลึก ภายใต้โครงการสำรวจและประเมินศักยภาพ น้ำบาดาลระดับลึก เพื่อการบริหารจัดการ จ.ภูเก็ต เพื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลสรุปศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึก ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวว่า ปกติแล้ว ใน จ.ภูเก็ต มีภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้เจาะบ่อบาดาล แต่เอกชนเหล่านั้นมีศักยภาพสามารถเจาะได้ในระดับความลึกไม่เกิน 100 เมตรเท่านั้น เนื่องจากหากเจาะลึกไปกว่านี้ต้องใช้ต้นทุนสูงอย่างมาก แต่ในส่วนที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้ามาทำงานนั้นสามารถเจาะได้ที่ความลึกถึง 600 เมตร จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง และรองรับ รวมไปถึงให้บริการนักท่องเที่ยว ที่เริ่มจะหลังไหลเข้ามาเที่ยวใน จ.ภูเก็ตทั้งหมด จะทำให้ จ.ภูเก็ต ไม่ขาดน้ำอีกต่อไปโดยเฉพาะในฤดูแล้ง

“เวลานี้ เราไปแล้วมากกว่าร้อยละ 50 โดยเจาะทดสอบไปแล้วทั้งสิ้น 45 บ่อ พบว่ามีบ่อที่มีศักยภาพน้ำบาดาลตามเป้าหมายของเราทั้งสิ้น 30 บ่อ พัฒนาเป็นบ่อน้ำบาดาลปริมาณ 5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จำนวนทั้งสิ้น 14 บ่อ พบแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำบาดาลมากกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ ต.รัษดา อ.เมือง พื้นที่ ต.วิชิต อ.เมือง พื้นที่ ต.เชิงทะเล อ.ถลาง และพื้นที่ ต.ไม้ขาว อ.ถลาง และเมื่อทำการสูบทดสอบปริมาณน้ำพบว่า พื้นที่ ต.รัษดา อำเภอเมือง มีปริมาณน้ำที่สามารถสูบได้สูงสุด 25 ลูกบาศก์ เมตรต่อชั่วโม” นายศักดิ์ดากล่าว

นายศักดิ์ดากล่าวว่า ทั้งนี้ มีประชาชนนำไปใช้ได้แล้ว 10 บ่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินการเจาะสำรวจแล้วเสร็จ จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล สรุปศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึก ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พร้อมทั้งออกแบบระบบสูบน้ำบาดาลและระบบกระจายน้ำ เพื่อใช้สำหรับจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชาชนมีแหล่งน้ำบาดาลสำหรับอุปโภค-บริโภค มีแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่หมู่เกาะ และเป็นต้นแบบในการศึกษาแหล่งน้ำในพื้นที่หมู่เกาะอื่นๆ ที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาที่ใกล้เคียงกันต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image